กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีเครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้ คัดค้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยไม่เชื่อถือข้อมูลจากภาครัฐที่ชี้แจงว่าการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนภาคการเกษตรและแก้ปัญหาอุทกภัย แต่กล่าวหาว่าโครงการดังกล่าวเป็นการเตรียมจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ นั้น นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า การดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานทุกโครงการเกิดจากปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ดังนั้น กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ จึงต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไขด้วยการศึกษาความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ และกระบวนการในการดำเนินการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้ทุกประการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลักษณะปัญหาด้านน้ำของพื้นที่ภาคใต้ที่สำคัญ คือ ด้านอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเกิดจากพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุก ความลาดชันสูง และปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากลักษณะการไหลของน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว และไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ แนวทางการพัฒนาเพื่อบรรเทาปัญหาแบ่งเป็น 3 พื้นที่ กล่าวคือ การเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในพื้นที่กลางน้ำ และการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ปลายน้ำ นอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านการบรรเทาอุทกภัยแล้ว ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งด้วย ซึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 10 โครงการตามที่กล่าวอ้าง ได้แก่ 1.โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการสร้างเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช 3.โครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง 4.โครงการประตูน้ำปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง 5.โครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช 6.โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการลุ่มน้ำคลองหลังสวน จ.ชุมพร 7.โครงการประตูระบายน้ำคลองสวีหนุ่ม พร้อมระบบส่งน้ำ จ.ชุมพร 8.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก จ.ชุมพร 9.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองละแม จ.ชุมพร 10.โครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง จ.ชุมพรนั้น ได้ดำเนินการตามแนวทางข้างต้น ดังนั้น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 10 โครงการดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาและสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศโดยรวม มิได้เอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะต่อกลุ่มทุนใดๆ ทั้งสิ้น