วันที่ 4 มิ.ย.68 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา นายอภิชา เลิศพชรกมล สส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่เป็นประธานการประชุมเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ACE โชคชัย ดำเนินงานโดย บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำลังผลิตรวม 9.9 เมกะวัตต์ ให้ถ้อยคำและชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบแหล่งน้ำมีลักษณะสีขุ่นดำ ตกตะกอนและส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณพื้นที่เกษตรข้างเคียงโกดังไม้สับของโรงงานและขุดร่องน้ำเป็นทางยาวระบายน้ำสู่ลุ่มน้ำมูล ทำให้คุณภาพน้ำดิบเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค บริโภคและกิจกรรมอื่นๆ ของพี่น้องประชาชนชาว อ.โชคชัย โดยมีนายซ้าย ผลกระโทก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา เขต อ.โชคชัย นายทรงวุฒิ  พฤฒิศาสตร์ นายก อบต.โชคชัย ผู้แทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา และผู้นำชุมชน รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรับฟังข้อมูลและซักถามข้อสงสัย   

นายพิชิต คืบกระโทก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองกกพัฒนา หมู่ 16 ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย ฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำเสียทะลักเข้าพื้นที่เพาะปลูกข้าว กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับผู้นำชุมชนบางราย พยายามรักษาผลประโยชน์ของโรงงาน ขัดแย้งกับความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยสายตาและผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ซึ่งพื้นที่กักเก็บและทางระบายน้ำชะล้างจากเปลือกไม้วัตถุดิบได้ไหลล้นทะลักออกมาจากบริเวณพื้นที่โรงงาน สร้างความเสียหายให้แปลงนากว่า 20 ไร่ ได้รับผลกระทบไม่สามารถเพาะปลูกได้ เบื้องต้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยสูบน้ำเสียออกจากที่นา แต่ไม่มีแผนในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม หากฝนตกหนักก็จะเกิดปัญหาอีกและมีแนวโน้มขยายวงกว้างมากกว่านี้

นายอภิชา เปิดเผยว่า โรงงานรับจะช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยมี อบต.โชคชัย เป็นเจ้าภาพ ส่วนตนและ ส.อบจ.เป็นคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ตนกำชับให้ต้องดูแลชาวบ้านให้พึงพอใจที่สุด ส่วนหน่วยราชการต้องจริงใจแก้ปัญหาให้ชัดเจนและมีมาตรการนำมาพิจารณาบังคับใช้ให้เด็ดขาด

ด้านนายซ้าย ส.อบจ.นครราชสีมา เขต อ.โชคชัย กล่าวว่า อ.โชคชัย มีโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการอื่นๆ รวม 23 แห่ง ตั้งอยู่สองฝั่งลุ่มน้ำมูล ช่วงกลางปี 67 มีโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียไม่ผ่านการบำบัดหรือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ วันที่ 16 พ.ค บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผลิตขนไก่ป่น ปล่อยน้ำทิ้งไม่ผ่านการบำบัดทำให้น้ำดิบในลุ่มน้ำมูลมีสีเขียวส่งกลิ่นเหม็น ปริมาณสารละลายสูงเกินมาตรฐานทำให้ปลาเค้า ปลาตะเพียน ปลาขาวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ น้ำหนักรวม 3 ตัน ลอยตายบนผิวน้ำเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร 2.วันที่ 16 สิงหาคม น้ำฝนผสมรวมขี้เถ้าที่นำมาถมปรับพื้นที่ภายในโรงแป้งมันเยนเนรัลสตาสท์ อ.ครบุรี รั่วไหลลงสู่ลงลุ่มน้ำมูล ทำให้น้ำดิบมีสีดำ ค่าออกซิเจน ความเป็นกรดด่าง ค่าความน้ำไฟฟ้าและอื่นๆ เกินค่ามาตรฐาน 3.วันที่ 21 ส.ค ฝนตกหนักทำให้กำแพงกั้นบ่อน้ำเสียหลังโรงงานไทยมิตซูวา อ.โชคชัย ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชำรุดมีน้ำเสียไหลลงลุ่มน้ำมูล ซึ่งทั้ง 3 โรงงานยอมรับเป็นต้นเหตุและยินยอมรับผิดชอบค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ช่วงเส้นทางน้ำไหลผ่านเป็นสาขาต้นน้ำมูล โดยเป็นน้ำดิบที่ระบายมาจากเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ไหลผ่าน อ.โชคชัย และบรรจบกับลำตะคอง ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ตลอดเส้นทางน้ำกว่า 120 กม. มีการประปาท้องถิ่นหลาย 10 แห่ง การประปาภูมิภาคจอหอ รวมทั้งการประปาเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา สูบน้ำมาผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้กับผู้ใช้น้ำจำนวนหลายแสนคน