ร่วมสมัย:ชะมวง พฤกษาถิ่น ไปดูเด็กศิลป์ YOUNG ARTISTS TALENT #10 สร้างผลงานศิลปะหลากหลาย หนึ่งในชิ้นงานนั้นสื่อเพศที่สาม พร้อมคลิปภาพผลงานหลากชิ้น เพศที่สามอึดอัด อยากบอก..ผ่านศิลปะ การแสดงออกตัวตนผ่านงานศิลปะเป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องการสื่อสังคม ปัจจุบันเด็กศิลป์รุ่นใหม่กล้าที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แสดงออกสะท้อนบางเรื่องราวของตนเอง หรือประสบชีวิตแต่ละคนคละเคล้ากันนำมาถ่ายทอด แม้งานชิ้นนั้นเป็นนามธรรม กึ่งนามธรรม และศิลปะจัดวางก็ตาม อย่างโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ปี 2562 YOUNG ARTISTS TALENT # 10 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดำเนินการเข้ามาปีที่ 10 เปิดโอกาสให้เด็กศิลป์จากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แสดงศัยภาพผลงานศิลปกรรมร่วมสมัย ด้วยการผ่านคัดเลือกมาก่อนที่จะเข้าแค้มป์ศิลปะรอบสุดท้าย และเที่ยวนี้มีประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมด้วย 5 ประเทศ จากกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย รวมแล้ว 74 คน ใช้พื้นที่หอศิลป์อันดามัน จ.กระบี่ เป็นสถานที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยชิ้นใหม่ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ (13 – 19 ม.ค. 62) โดยคณะกรรมการจากศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ คัดเลือกผลงานให้เหลือเพียง 12 คน ที่จะได้เดินทางไปศึกษาดูงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่ประเทศญี่ปุ่น นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ กล่าวว่า “12 คน ที่ได้รับคัดเลือกถือเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง สร้างสรรค์ผลงานเทคนิคที่หลากหลายได้ดีทีเดียวในเวลาจำกัด ทำให้คณะกรรมการได้เห็นการพัฒนาศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่ การได้ไปศึกษาดูงานศิลปะร่วมสมัยในประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ถึงการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย เสริมสร้างการทำงานให้เติบโตยิ่งขึ้น จึงอยากให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองมากที่สุด นำความรู้กลับมาพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ก้าวหน้า” ภาพรวมผลงานของเด็กศิลป์รุ่นใหม่เที่ยวนี้ เท่าที่สังเกตมีหลายชิ้นงานที่สื่อลักษณะเชิงเพศที่สาม อาจเป็นเพราะว่าเขาเหล่านั้นต้องการแสดงออกเพื่อให้สังคมมองเรื่องความเท่าเทียม ยอมรับความหลายทางเพศมากขึ้น อย่างเช่นผลงาน “สภาวะของความอึดอัด” ธีระยุทธ แสงอาจ วัย 22 ปี คณะมนุษยศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี ถ่ายทอดแนวคิดจากแรงบันดาลใจจากสังคมรอบข้างที่มีมุมมองต่อเพศที่สาม “จากประสบการณ์ของตนเองที่ถูกปฏิเสธความไม่ต้องการ การถูกละเลยหรือมองข้าม การถูกกดดันทางจิตใจและการดูถูกสิ่งที่เราเป็น หัวเราะเรา ทำเหมือนเราเป็นตัวตลกของพวกเขา ความรู้สึกเหล่านั้นอาจทำร้ายและบั่นทอนสภาพภายในจิตใจอย่างมาก จึงต้องการถ่ายทอด “สภาวะของความอึดอัด” ของตนเองผ่านงานสร้างสรรค์ รูปแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัยกึ่งนามธรรม โดยใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ เพื่อสะท้อนสภาวะจิตใจของตนเองที่เป็นเพศที่สาม” ธีระยุทธ ระบายความรู้สึก งานชิ้นนี้นอกจากถ่ายทอดสภาวะของความอึดอัดแล้วยังโดนใจคณะกรรมการคัดเลือก 1 ใน 12 ผลงานอีกด้วย 12 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้รับคัดเลือกศึกษาดูงานศิลปะประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ น.ส.ปิยะธิดา ไกรกิจราษฎร์ ม.ศิลปากร นายอนุกูล ทังไธสง ม.ศิลปากร น.ส.ชนิสรา วรโยธา มทร.ธัญบุรี น.ส.กัญญาวีร์ เอื้อถาวรพิพัฒน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(สบศ.) นายวรวุฒิ เกษประทีป วิทยาลัยช่างศิลป์ สบศ. นายศรชัย ชนะสุข มทร.รัตนโกสิททร์ วิทยาลัยเพาะช่าง น.ส.บุษกร จันทร์เมือง ม.ทักษิณ วิทยาเขตสงขลา นายสันติ ทองมี มทร.ศรีวิชัย นายธีระยุทธ แสงอาจ มรภ.อุบลราชธานี น.ส.กาญจนาพร ปัตตาเทสัง มรภ.นครราชสีมา น.ส.พรพรรณ พ่วงพูน มรภ.อุตรดิตถ์ และ น.ส.คามิลล์ มานาโล คาบาตินาน จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์