ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ ระบุ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 พฤษภาคม 2568 (ปัจจุบัน) มีปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 493.5 มิลลิเมตร (มม.) สูงกว่าค่าเฉลี่ยคาบ 30 ปี (ปี 2534-2563) อยู่ที่ 398.4 มม. และสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปี 2565 อยู่ที่ 341.0 มม. ปี 2566 อยู่ที่ 221.0 มม. ปี 2567 อยู่ที่ 300.5 มม.
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (ผอ.สนน.) กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้น จึงมีแนวโน้มว่าปีนี้อาจจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ เพราะมีฝนสะสมถึง 493.5 มม. ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู (พ.ค.) มากกว่าค่าเฉลี่ยคาบ 30 ปี จำนวน 95.1 มม. หรือ 23.9% ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2567 มีปริมาณฝนเฉลี่ยปีละ 1,600 มม. มีเฉพาะปี 2565 เท่านั้น ที่มีปริมาณฝนสูงถึง 2,355.5 มม. ถือเป็นปริมาณสูงสุดและผิดปกติมากที่สุดในรอบ 30 ปี
ส่วนในปีนี้ พบว่า ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตกหนักและตกแช่เป็นหย่อม (Rain Bomb) อาจทำให้น้ำรอระบาย เนื่องจากน้ำทั้งหมดต้องระบายในพื้นที่เดียวกัน แต่หากฝนในปริมาณเดียวกัน แต่ตกกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯในวงกว้าง การระบายน้ำจะทำได้เร็วกว่า โดยภาพรวม ปริมาณฝนไม่ควรเกิน 60 มม./ชั่วโมง จะไม่เกิดน้ำท่วมขัง หากเกินอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง แต่จะระบายเฉลี่ยไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงแล้วเสร็จ เนื่องจากท่อระบายน้ำส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีขนาด 60 มม. แต่ปัจจุบัน มีการขยายขนาดท่อระบายน้ำเป็น 1.50 เมตรแล้วในบางพื้นที่ เช่น ที่ถนนช่างอากาศอุทิศ เขตดอนเมือง และอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ที่ย่านโรงเรียนหอวัง เขตจตุจักร เป็นต้น
"ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนัก ทีมพยากรณ์บางทีมคาดว่าอาจจะถึง 1,800 มม./ปี แต่หากดูจากข้อมูลสถิติ ในช่วงเวลาเดียวกัน ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปี 65 ไปแล้ว กทม.ไม่นิ่งนอนใจ ต้องคิดว่าปริมาณฝนมีจำนวนมากไว้ก่อนตามสถิติ ปี 65 เนื่องจากเดือนนี้บางวันมีฝนตกถึง 146 มม. และบางวัน 100 มม.ขึ้นไป ทำให้มีจุดน้ำท่วมขัง เช่น วงเวียนบางเขน รามอินทราซอย 5 แถวแจ้งวัฒนะ ย่านชินเขต ย่านเทศบาลสงเคราะห์ตลาดประชานิเวศน์ โดยภาพรวมใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 3 ชั่วโมงแห้งหมด ไม่มีจุดไหนท่วมข้ามคืน"
จากการเก็บข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมภายหลังปริมาณฝนสูงสุดในปี 2565 ปัจจุบันมี 737 จุด รวมพื้นที่เอกชนและภาครัฐทั้งหมด แบ่งเป็น ปัญหาจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน 120 จุด (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ปัญหาน้ำท่วมถนนสายหลัก 144 จุด (สำนักการระบายน้ำ) ปัญหาน้ำท่วมจากฝน 473 จุด (สำนักงานเขต) กทม.ได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนปีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.ก่อนฝนตก มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำกว่า 200 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง บ่อสูบน้ำ 349 แห่ง และ Pipe Jacking 11 แห่ง ตรวจสอบบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำที่มีอยู่ทั้ง 4 แห่งให้พร้อมใช้งาน ขุดลอกคลอง 263 กม. เปิดทางน้ำไหล 1,355 กม. และล้างท่อระบายน้ำกว่า 3,800 กม. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ติดตามสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสภาพฝนจากเรดาห์ และระบบพยากรณ์ฝนล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่และประชาชนทราบ พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมประจำสำนักงานเขตเพื่อเตรียมรับมือและช่วยเหลือประชาชน
2.ระหว่างฝนตก ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดตามสถานการณ์ ทั้งสถานการณ์ฝน การแจ้งเหตุน้ำท่วมขัง การประสานไปยังศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครประจำสำนักงานเขตเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน และ 3.หลังฝนตก การเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ เช่น ถนนสายหลัก เขตเศรษฐกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล
“ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯเกิดจากการที่กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดทะเล ระบบระบายน้ำจึงต้องต่อสู้กับน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนพร้อมกัน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดจากโครงสร้างพื้นฐานเก่า การขยายตัวของเมืองที่ไม่สอดคล้องกับระบบระบายน้ำ การก่อสร้างที่บดบังทางน้ำ มีการก่อสร้างของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น การพัฒนาคูน้ำวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ส่งผลให้ระบบระบายน้ำบางจุดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯกับปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งเมื่อเกิดฝนตกหนัก แม้พื้นที่จะอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ก็ส่งผลต่อระบบระบายน้ำและการจราจรของกรุงเทพฯโดยรวม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีขีดความสามารถของระบบระบายน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมรวมได้ 80 มม. (ใน1วันโดยเฉลี่ยแล้วฝนตกประมาณ 3 ชม.) หากฝนตกเกินกว่านั้นจะเกิดน้ำท่วมขังชั่วคราว แต่โดยเฉลี่ยสามารถระบายน้ำออกได้ภายใน 2 ชม.”
ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำ ช่วยเพิ่มการระบายน้ำในอัตราการไหล 3 เมตร/วินาที โดยใช้ระบบสูบเร่งระบายน้ำ เนื่องจากคลองในกรุงเทพฯ เช่น คลองพระโขนงบางช่วงมีความคดเคี้ยว น้ำเดินทางช้า อุโมงค์ต่าง ๆ จึงช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ กทม.ยังใช้ระบบพื้นที่ปิดล้อมย่อยมาช่วยในการจัดการน้ำ โดยใช้ถนน ทางรถไฟ คลองประปา และคลองย่อยต่าง ๆ เป็นคันกั้นน้ำตามธรรมชาติ แล้วใช้วิธีสูบน้ำลงท่อระบายออกคลองสายหลัก โดยระบบพื้นที่ปิดล้อมย่อยจะใช้ในกรณีมีข้อจำกัดด้านการลดระดับน้ำในคลองบริเวณที่มีจุดน้ำท่วม เช่น ย่านดินแดง ห้วยขวาง เป็นต้น
นายเจษฎา กล่าวถึงการรับมือน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนว่า ปัจจุบันคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยารับน้ำได้ที่ระดับ 2.8-3.5 เมตร ซึ่งคันด้านบนของแม่น้ำเจ้าพระยา (แถวสะพานพระราม7) จะสูงกว่าด้านล่าง เนื่องจากน้ำเหนือก่อตัวที่ด้านบนและไหลลงมา เป็นการออกแบบตามความจำเป็นแต่ละจุดเพื่อประหยัดงบประมาณ ปัจจุบันมีการลดระดับน้ำหน้าสถานีสูบน้ำลง -1 ม.(รทก.) เพื่อเปิดพื้นที่รับน้ำในคลอง และอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น
รวมถึง มีการติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันปริมาณน้ำยังต่ำกว่าร้อยละ 40 ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกใต้เขื่อนยังไม่มีนัยสำคัญ ส่วนสถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่พบปริมาณน้ำไหลที่น่าห่วง นอกจากนี้ จากการประสานงาน กรมชลประทานมีนโยบายระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไม่ผันน้ำเข้าเมืองกรุงเทพฯ ประกอบกับ ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ สูงสุดอยู่ที่ 1.40 เมตร จุดเฝ้าระวังคือ 2.00 เมตรขึ้นไป สถานการณ์น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนจึงยังไม่น่ากังวลในช่วงนี้
"พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น่าห่วงเท่าพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขตลาดกระบัง ห่างแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 40 กิโลเมตร มีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำตามแนวเร่งระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อเร่งอัตราการไหลของน้ำในคลอง โดยเฉพาะคลองพระโขนงให้สามารถระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาเร็วขึ้น โดยปกติอัตราการไหลอยู่ 0.5 เมตร/วินาที หากเพิ่มระบบสูบน้ำปลายท่อเป็นทอด ๆ อัตราการไหลจะเพิ่มได้ถึง 3 เมตร/วินาที (4-8เท่า) นอกจากนี้ ยังต้องพร่องน้ำในคลองต่าง ๆ และบริหารจัดการเปลี่ยนทางน้ำในคลองให้สมดุลกับปริมาณฝนที่ตกลงมา เป้าหมายคือลำเลียงน้ำจากพื้นที่รอบนอกลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด"
นายเจษฎา กล่าวต่อไปว่า โดยภาพรวม พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูงกว่าพื้นที่รอบนอกห่างออกไป ซึ่งบางพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่ง เช่น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงต้องใช้ระบบสูบน้ำเป็นทอด เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาถนนทรุดตัวทำให้เกิดน้ำท่วม เบื้องต้นแก้ปัญหาโดยการเสริมผิวถนน กรณีเสริมผิวถนนไม่ได้ต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วย
ทั้งนี้ ปริมาณฝน 60 มม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป เริ่มมีความเสี่ยงน้ำท่วม แต่ใช้เวลาระบายไม่นาน แต่กรณีฝนตก 140 มม.ในปีนี้ ถือว่าสูงมาก พื้นที่ในเมืองที่อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามีความเสี่ยงสูง เช่น สุขุมวิท ดินแดง พัฒนาการ ลาดพร้าว วังทองหลาง ดอนเมือง แจ้งวัฒนะ ถนนประชาสุข ถนนประชาสงเคราะห์ ถนนช่างอากาศอุทิศ วงเวียนบางเขน ถนนกิ่งแก้วเขตลาดกระบัง ถนนลาซาล ถนนแบริ่ง รามอินทราซอย 5 เป็นต้น พื้นที่ดังกล่าว เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงทั้งหมด 737 จุด กทม.ได้ดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วน ระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝนในปีนี้ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/index2.php เพื่อตรวจสอบข้อมูลฝนจากเรดาร์แบบเรียลไทม์ เช่น ทิศทางการเคลื่อนตัวของฝน พื้นที่เกิดฝน ปริมาณฝน และสามารถดูการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าได้ 1-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ กทม.นำมาใช้เพิ่มเติม โดยประชาชนสามารถติดตามได้ผ่านมือถือ