วันที่ 30 พ.ค.2568 เวลา 14.00 น.ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น (สคร.7 ขอนแก่น) พญ.พุทธพร ประเสริฐสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ได้มีการเตือนกลุ่มวัยรุ่นและประชาชนทั่วไปในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเชื้อเอชไอวี HIV หลังพบสถานการณ์การติดเชื้อยังคงสูงต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งและทุกช่องทาง
พญ.พุทธพร กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคเอดส์ หรือ HIV นั้น ในภาพรวมของสคร.7 ขอนแก่น พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมาเท่าๆกับสถิติตั้งแต่ปี 2563-2567 เฉลี่ยนปีละ 1,600 - 1,700 ราย ส่วนขอนแก่นแม้จะมีการติดอันดับผู้ติดเชื้อ HIV เป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย อยู่ที่เฉลี่ยปีละ 700 ราย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ปี 2563 มา สำหรับรายใหม่จะเป็นวัยทำงาน 25-49 ปี หากยอดสะสมจะเป็นวัยเรียน อายุ 20-24 ปี ที่ติดเชื้อมากที่สุด
โดยปัจจุบันนั้น จะมียาที่กินก่อนการสัมผัสโรค ทำให้คนละเลยที่จะสวมถุงยางอนามัย ซึ่งยาป้องกันนั้น ป้องกันได้เพียง HIV และหลายคนกินแบบไม่ถูกวิธีและไม่ได้กินทุกครั้งก่อนสัมผัสโรค ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้ ทั้งการติดเชื้อ HIV และโรคทางเพศสัมพันธุ์อื่นๆด้วย ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุดคือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธุ์ และต้องสวมให้ถูกวิธีคือใช้ถุงยางที่มีมาตรฐานของอย.ไม่แตกไม่รั่วซึม ถ้าพบซองบรรจุผลิตภัณฑ์ผิดปกติควรงดใช้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งใช้ขนาดที่พอดีไม่ใหญ่เกินไปและไม่สวมหลายชั้น อย่างไรก็ตามการป้องกันโรค HIV นั้น การสวมถุงยางอนามัยเป็นการป้องกันโรคที่ดินที่สุด และสามารถใช้ควบคู่กับการกินยาได้ และนอกเหนือจากนั้นการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธุ์ยังช่วยป้องกันโรคอื่นได้อีกด้วย
ขณะที่ในส่วนของโรคซิฟิลิสนั้น มีการดำเนินโรคค่อนข้างยาวนาน เมื่อเรารับเชื้อมาก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 1 จะพบเห็นว่ามีตุ่มและแตกออกในลักษณะแผลริมแข็ง ยุบลงไปขอบนูน แต่จะไม่มีความเจ็บปวด ซึ่งสามารถหายเองได้ และในบางรายอาจจะมีเรื่องของต่อมน้ำเหลืองอักเสบร่วมด้วย โรคจะพบเห็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะหายไป แต่เชื้อไม่ได้หายไปด้วย จะยังคงอยู่ในร่างกาย ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปตามอวัยวะต่างๆ โดยจะพบว่ามีผื่นขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้า ที่ในโรคอื่นๆจะไม่ค่อยพบเห็น และจะมีเรื่องของผมร่วง คิ้วร่วง เคาร่วง หรือมีม่านตาอักเสบ พอระยะที่ 2 หายไป แต่เชื้อก็จะยังแฝงตัวอยู่ในร่างกายเช่นเดิม
ซึ่งหลายคนพอเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 แล้วหายไปก็ไปไม่ตรวจคิดว่าหายแล้ว และเชื้อจะแฝงอยู่ยาวนานถึง 30-40 ปี จนกระทั่งเข้าสู่ระยะที่ 3 เชื้อเข้าสู่อวัยวะต่างๆโดยที่สำคัญคือไปที่หัวใจหลอดเลือด ทำให้เป็นลิ้นหัวใจผิดปกติ เส้นเลือดใหญ่โป่งพองและเสียชีวิตได้ ส่วนการรักษานั้นหากรักษาถูกวิธีก็จะหายได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นระยะไหน หากเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้วการรักษาก็จะยากขึ้นตาม และเชื้อซิฟิลิสนั้นยังสามารถขึ้นไปสู่ระบบประสาทได้อีกด้วย หากในระยะที่ 1-3 ทำการฉีดยารักษาเข้ากล้าม 1 เข็มแล้วแต่รักษาไม่หาย ก็จะต้องทำให้การรักษาฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 10-14 วัน
พญ.พุทธพร กล่าวต่ออีกว่า สคร.7 ยังรับตรวจรักษาโรคจากการติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ด้วย ทุกวันอังคารและวันพุธ 09.00 น. -15.00 น. เว้นวันหยุดราชการ หากใครสงสัยว่าตัวเองจะเสี่ยงในเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ก็สามารถมารับบริการได้ นอกจากนี้ยังมีถุงยางอนามัยที่มีมาตรฐานอย.แจกด้วย ซึ่งทุกคนสามารถมาขอรับได้ฟรี ซึ่งการตรวจรักษานั้น หากพบว่าติดเชื้อ HIV หรือโรคติดต่อจากเพศสัมพันธุ์อื่นๆจะต้องทำการรักษาทั้งตัวเองและคู่สัมพันธุ์ด้วย หากไม่ทำการรักษาด้วยกันก็จะทำให้กลับไปติดเชื้อได้อีก ถ้ามีคู่สัมพันธุ์หลายคนก็ให้พาทุกคนมาด้วย แม้สถานการณ์จะพบว่ามีผู้ติดเชื้อหลายรายแต่ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ควรตระหนักเน้นการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ในทุกช่องทาง หากเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยาง ถุงยางแตกระหว่างกิจกรรม หรือมีอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากโรคทั้ง 5 ชนิดสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน และฝีมะม่วง ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ปี 2568 ข้อมูลล่าสุดพบผู้ป่วยสะสม จำนวน 1,217 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 24.4 ต่อประชากรแสนคน โรคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ โรคซิฟิลิส 645 ราย, 12.93 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ โรคหนองใน 463 ราย, 9.28 ต่อประชากรแสนคน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิสสูงสุด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด 180 ราย หรือ 13.95 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ขอนแก่น 245 ราย หรือ 13.76 ต่อประชากรแสนคน กาฬสินธุ์ 133 ราย หรือ 13.69 ต่อประชากรแสนคน และมหาสารคาม 87 ราย หรือ 9.21 ต่อประชากรแสนคน
สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคหนองในสูงสุด คือ จังหวัดมหาสารคาม 102 ราย หรือ 10.80 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ร้อยเอ็ด 125 ราย หรือ 9.69 ต่อประชากรแสนคน ขอนแก่น 165 ราย หรือ 9.27 ต่อประชากรแสนคน และกาฬสินธุ์ 71 ราย หรือ 7.30 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15-29 ปี
ส่วนสถานการณ์ HIV ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ไตรมาส 2 ตั้งแต่ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 มีผู้เข้ารับบริการให้การปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 85,673 ราย พบผู้ติดเชื้อวินิจฉัยรายใหม่ 712 ราย เป็นเพศชาย 566 ราย และ เพศหญิง 146 ราย