กรมฝนหลวงฯ ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน รับมืออากาศแปรปรวน จุฬาฯ เตือนวิกฤติอากศรุนแรง “นภามิตร” ชี้ฝุ่น 2.5 จู่โจมภาคกลางผิดปกติ เร่งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วันนี้ (25 ม.ค.62) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยนายเอนก ชมพานิชย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ บรรยากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบิการฝนหลวง ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ม.มหาวิทยาลัยเกษตร บางเขน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่ากรมฝนหลวงฯ จะมีเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็มีความจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากภารกิจเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร เพื่อศึกษาวิจัยสภาพอากาศ ในการเป็นข้อมูลวิเคราะห์สำหรับการวางแผนในการปฏิบัติการฝนหลวง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตร 120 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตร อย่างไรก็ตาม การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการ 4 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนอย่างเป็นวัฎจักร โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ด้าน นายเอนก ชมพานิชย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นการร่วมพลัง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยกรมทรัพยากรน้ำ จะดูแลพัฒนาแหล่งน้ำโดยรอบพื้นที่เขตชลประทาน 120 ล้านไร่ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทางการเกษตรที่ยังขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่บางแห่งแล้งซ้ำซาก ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นปัญหาที่เรื้อรัง และทวีความรุนแรงมากขึ้น คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพร้อมที่จะสนับสนุนอง์ความรู้ การวิจัย ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอนาคต ร่วมกับทุกฝ่าย ขณะที่ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร กล่าวว่า จากสภาพปัญหาความแปรปรวนทางสภาพอากาศ ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่นกรณี ฝุ่นละออง 2.5 ที่จู่โจมมายังภาคกลาง ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องผุ่น หมอกควัน จะพบในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้น การดัดแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในอนาคต ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องผลึกความร่วมมือ เพื่อรับสภาพปัญหา และแก้ไขต่อไป