อาจารย์แพทย์คณะแพทยศาสตร์ มช. เตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงทางสุขภาพที่มากับฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่โรคหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมแนะครอบครัวและชุมชนร่วมป้องกันและดูแลอย่างรอบด้าน

อ.พญ.สุภาวิตา เปลี่ยนน่วม อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ฤดูฝนในประเทศไทยไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ยังเป็นช่วงที่ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ถดถอย โรคประจำตัว และข้อจำกัดทางร่างกายที่มากขึ้นตามวัย”

6 กลุ่มโรคและอันตรายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุช่วงหน้าฝน ได้แก่:
    1.    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ COVID-19 และปอดอักเสบ จากอากาศชื้นเย็นที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อ แพทย์แนะนำให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของอาการ ลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการนอนโรงพยาบาล
    2.    โรคทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษและติดเชื้อในลำไส้ มักเกิดจากเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำหรืออาหารช่วงน้ำท่วมขัง ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเหลว ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการขาดน้ำมากกว่าวัยอื่น  หากไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
    3.    โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) จากการสัมผัสน้ำหรือโคลนที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ติดเชื้อ ผ่านแผลถลอกหรือเยื่อบุ เช่น ตา อาการเตือน ได้แก่ ไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง หากต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทและล้างทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังสัมผัสน้ำไม่สะอาด
    4.    โรคผิวหนัง เช่น เชื้อรา น้ำกัดเท้า หรือผื่นผิวหนัง จากความชื้นสะสม แนะนำให้สวมเสื้อผ้าแห้งสะอาด และรักษาความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    5.    ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือความทรงจำจากเหตุการณ์รุนแรง เช่น น้ำท่วมใหญ่ในอดีต ผู้ดูแลควรหมั่นพูดคุย จัดกิจกรรมภายในบ้านร่วมกับผู้สูงอายุ และติดตามข่าวสารอย่างพอดี ไม่กระตุ้นความเครียดจนเกินไป
    6.    ภาวะหกล้ม ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับผู้สูงอายุ เกิดได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน อาจทำให้เกิดกระดูกหักหรือบาดเจ็บที่ศีรษะ พบได้บ่อยช่วงฝนตก เนื่องจากพื้นลื่นหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ควรจัดบ้านให้ปลอดภัย เช่น ติดราวจับในห้องน้ำ บันได และทางต่างระดับ ติดพื้นกันลื่น จัดบ้านให้เป็นระเบียบ มีแสงสว่างเพียงพอ และอุปกรณ์ช่วยพยุงที่เหมาะสม หากไปในพื้นที่เสี่ยง ควรเดินด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลผู้สูงอายุช่วงฤดูฝน ได้แก่
    •    ควรสวมใส่เสื้อผ้าอบอุ่น หลีกเลี่ยงการตากฝน และใช้รองเท้ากันลื่นเมื่อต้องออกนอกบ้าน
    •    ดูแลโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และดื่มน้ำให้เพียงพอ
    •    ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ยืดเหยียด เดินหรือออกกำลังกายในบ้าน
    •    หากมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์ตามนัด
    •    ระมัดระวังเรื่องหกล้ม

อ.พญ.สุภาวิตา เน้นย้ำว่า “ครอบครัวคือกำลังสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ช่วยเตือนเรื่องยา การออกกำลังกาย และดูแลความปลอดภัยในบ้าน นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุขสามารถมีบทบาทได้โดยการให้ความรู้ จัดบริการวัคซีน และออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่เข้าถึงบริการได้ยาก  แค่มีคนในครอบครัวคอยใส่ใจและอยู่เคียงข้าง ก็ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจในฤดูฝนนี้ได้มากแล้วค่ะ”
อ.พญ.สุภาวิตา กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช. #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu #โรคที่มากับหน้าฝน