"ดีป้า" ลุยจัดกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture ภาคใต้ ภายใต้โครงการ OTOD#2 เร่งยกระดับทักษะการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร – IoT ภาคการเกษตรอัจฉริยะ – แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะแก่กลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน พร้อมเปิดพื้นที่จับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการบนบัญชีบริการดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเครือข่ายพันธมิตรจัดกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช กิจกรรมภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (One Tambon One Digital : OTOD#2) โดยได้รับเกียรติจาก นายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมี นายบุญทวี ดวงนิราช ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชนร่วมงานโดยพร้อมเพรียง ณ ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
นายสมชาย กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนครแห่งอารยธรรม น่าอยู่ น่าเที่ยว การเกษตรและอุตสาหกรรมยั่งยืน มีพื้นที่รวม 6.2 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 3.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 54.94% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง โดยจังหวัดมีรากฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เป็นแหล่งการผลิตทางการเกษตรที่มีความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่า รวมถึงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่ Smart Farmer การพัฒนาองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง และการบริหารจัดการฟาร์มสู่ Smart Farm ซึ่งกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture ภาคใต้ ที่จัดโดย ดีป้า จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในวงกว้าง อีกทั้งพัฒนาทักษะแก่กลุ่มชุมชนและเกษตรกรให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน นายบุญทวี กล่าวว่า โครงการ OTOD#2 ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการเกษตร (Digital Agriculture) ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชุมชน เกษตรกร ช่างชุมชน และสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 3 ประเภทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน dSURE และขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล ได้แก่ โดรนเพื่อการเกษตร (Drone) แทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ (Tractor) และอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ภาคการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมช่องทางเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการดิจิทัลด้านการเกษตร ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก ดูแลรักษา และจัดการผลผลิต ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ พร้อมเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมของไทยสู่เกษตรอัจฉริยะในยุคดิจิทัล
สำหรับกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร โดยมุ่งยกระดับทักษะให้กับกลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีความพร้อมต่อการปรับตัวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดำเนินการผ่านกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อยกระดับทักษะเข้มข้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดย พ.อ.อ.มารุต แก้วกลางเมือง จากสถาบันการบินพลเรือน 2. เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ภาคการเกษตรอัจฉริยะ โดย นายสาธิต ดำรงประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เค.สมาร์ทฟาร์ม แอนด์ การ์เด้น จำกัด และ 3. เทคโนโลยีแทรกเตอร์การเกษตรอัจฉริยะ (Tractor) โดย นายวรพล จินดาศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวเทคคอบบร้า อินโนเวชั่น จำกัด พร้อมกันนี้ยังมีพื้นที่นำเสนอเทคโนโลยีภาคการเกษตร และพื้นที่จับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อการเกษตรและได้รับการรับรองด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE และการเพิ่มทักษะการจัดทำและนำเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจาก ดีป้า
“กิจกรรม Accelerate Digital Agriculture ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากจะเป็นการยกระดับทักษะเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรแล้วยังเป็นการเฟ้นหาสุดยอดไอเดียหรือโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งพื้นที่ภาคใต้มีผู้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น (Pre-screen Round) จำนวน 46 ราย แบ่งเป็นประเภทกลุ่มชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 25 ราย และประเภทพัฒนาธุรกิจชุมชน 21 ราย ทั้งหมดจะผ่านเข้าสู่รอบ Pitching ระดับภูมิภาคที่จังหวัดสงขลาต่อไป” นายบุญทวี กล่าว
สำหรับกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture จะดำเนินการต่อเนื่องใน 5 ภูมิภาค รวม 9 จังหวัด ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 4 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 5 ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 6 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 9 ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง โดยกิจกรรมดังกล่าวมีผู้สนับสนุน จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ธนาคารออมสิน บริษัท เจียไต๋ จำกัด และ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม Accelerate Digital Agriculture & Pitching Day รอบภูมิภาค สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE OA: @OTOD2568 พร้อมติดตามข่าวสารที่ Facebook Page: depa Thailand