“เผ่าภูมิ” ลุยระยอง สกัดลักลอบน้ำมันเขียว สั่ง 5 มาตรการเข้ม ใช้ RTS–AIS ตรวจเรือ Real-Time

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ลงพื้นที่ตรวจการส่งออกน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (น้ำมันเขียว) และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบเส้นทางการขนส่ง ติดตามพฤติกรรมเรือผ่านระบบ RTS และ AIS ที่จังหวัดระยอง เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบใช้น้ำมันดีเซลที่ได้รับสิทธิภาษีศูนย์กลับมาใช้ในประเทศ โดยเฉพาะการนำกลับเข้ามาจำหน่ายในเขตทะเลอาณาเขตและบนฝั่งไทย โดย “น้ำมันเขียว” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงให้แก่ชาวประมงที่ปฏิบัติงานในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (12–24 ไมล์ทะเล) โดยน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายจะมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนฝั่งเนื่องจากไม่มีภาษี ซึ่งจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงของไทย ช่วยชาวประมงกว่า 7,000 ลำ ครอบคลุม 22 จังหวัดชายทะเล  แต่เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวมีราคาต่ำ จึงทำให้เกิดการลักลอบนำกลับเข้ามาจำหน่ายหลายรูปแบบ ได้แก่ การลักลอบนำน้ำมันเขียวจากในทะเลกลับเข้ามาจำหน่ายในทะเลอาณาเขตหรือบนฝั่งภายในประเทศ การที่เรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน (เรือแทงเกอร์) จำหน่ายน้ำมันเขียวให้กับเรือประมงที่ไม่มีสิทธิ เช่น เรือประมงต่างชาติ หรือเรือประเภทอื่น และการนำเรือแทงเกอร์เข้ามาจำหน่ายน้ำมันในทะเลอาณาเขต

ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้สั่งการให้กรมกรมสรรพสามิต“ขันน็อต” ทั้งระบบ 5 มาตรการ เข้มงวดและครอบคลุมทุกมิติ ดังนี้

1.ควบคุมด้วยทะเบียนและเงื่อนไข : เรือทุกประเภทที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการน้ำมันเขียว ได้แก่ เรือบรรทุกน้ำมัน เรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน เรือบรรทุกน้ำมันต่อเนื่อง และเรือประมง ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

2.ตรวจสอบการจำหน่ายทุกขั้นตอน : นำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเขียวอย่างครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางโรงกลั่นจนถึงเรือประมง โดยมีระบบตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายน้ำมัน ระบุผู้รับ ปริมาณ วันที่ และเวลาอย่างชัดเจน พร้อมติดตั้งมาตรวัดปริมาณรับ-จ่ายบนเรือทุกประเภท เพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณการรับและการจำหน่ายน้ำมันเขียวในแต่ละช่วงการขนส่ง

3.ใช้เทคโนโลยีติดตาม Real Time Surveillance (RTS) : เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินเรือของเรือบรรทุกน้ำมันว่ามีเส้นทางการเดินเรืออย่างไร อยู่ในทะเลเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรหรือไม่ พร้อมระบบแจ้งเตือนหากมีพฤติการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น

4.ติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS) : สามารถติดตามพฤติกรรมและตำแหน่งของเรือประมงที่ได้รับสิทธิว่ามีพฤติกรรมหรือการเดินเรือที่ผิดปกติหรือไม่ 
 
5.บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ : มีการบูรณาการข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมศุลกากร กองบังคับการตำรวจน้ำ ศรชล. เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบอย่างเป็นระบบ

#ลักลอบน้ำมันเขียว #ข่าววันนี้ #สรรพสามิต #ราคาน้ำมััน #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์