วันที่ 28 พ.ค.68 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า...
ก.ล.ต. หลังแอ่นกับ G-Token
มีข่าวว่า “นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. กำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยย้ำว่า G Token ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means Of Payment) ได้
เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการเป็นการทั่วไปในลักษณะเดียวกับเงินบาท
และ ก.ล.ต. ก็ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP เช่นกัน
รวมทั้ง ก.ล.ต. มีกฎเกณฑ์เงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ ขณะที่ G Token ยังสามารถซื้อขายในตลาดรองได้ หากผู้ลงทุนต้องการขายก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หรือผู้ลงทุนอยากซื้อเพิ่มก็ สามารถซื้อบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DAEX) ได้”
**ผมตั้งข้อสังเกตว่า ก.ล.ต.พยายามช่วยกระทรวงคลังแบบโก่งสุดตัวเพื่อมิให้ G Token เป็น “เงินตรา” อย่างหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าไม่มีผล
เพราะการที่ G Token จะเป็น “เงินตรา” หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาทางเศรษฐกิจ (substance over form) ไม่ใช่รูปแบบของกฎหมายหรือกติกาที่อ้างโดย ก.ล.ต.
ต้องเริ่มที่ G Token สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ ซึ่งไม่ว่า ก.ล.ต. จะอ้างว่าสามารถมีเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้
แต่ขอถามว่า ก.ล.ต. จะรู้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดชื่อผู้รับซื้อได้อย่างไรว่า ว่าในการซื้อขายในตลาดรอง นาย ก. จะขาย G Token ให้แก่นาย ข. หรือแก่นาย ค. หรือแก่บุคคลอื่นใด
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าข้ออ้างเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถบังคับโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ นั้น ไม่สามารถทำได้จริง
และถ้าหาก ก.ล.ต. เห็นว่าจะทำได้จริง ก็ขอช่วยอธิบายเหตุผลและวิธีการ
กรณีในเมื่อเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถบังคับโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ นั้น ไม่สามารถทำได้จริง ในทางปฏิบัติแห่งโลกความจริง G Token ย่อมสามารถโอนแลกเปลี่ยนมือกันได้อย่างเสรี
ไม่ว่าในการซื้อขาย G Token ระหว่างนาย ก. กับนาย ข. หรือในการที่นาย ก. โอน G Token ให้นาย ข. เพื่อชำระหนี้หรือชำระค่าสินค้าโดยสำแดงเป็นทั้งสองรายทำการซื้อขายในราคาที่ตกลงกัน
หรือแม้แต่จะมีบุคคลหนึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่เป็นธุรกิจตัวกลางเพื่อหักบัญชีกันระหว่างนาย ก. กับนาย ข. เป็นระบบย่อยอยู่นอกระบบใหญ่
นอกจากนี้ ก.ล.ต. แถลงว่า “การสร้างราคา/ปริมาณซื้อขาย (market manipulation) ซึ่งผู้กระทำผิดจะมีโทษทางอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
นอกจากนี้ จะกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยราคาอ้างอิง (indicative price) ที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยคำนวณจากเงินต้นและผลตอบแทน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคา“
**ผมตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังโปรโมทว่า G Token เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออมย่อยสามารถเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ
ผู้ออมรายย่อยเหล่านี้ โดยปกติเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการความเสี่ยง
แต่กระทรวงการคลังกลับผลักดันกลุ่มนี้ให้เข้าไปเป็นผู้ซื้อ G Token ที่เป็นตราสารดิจิทัลอันมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ว่า ก.ล.ต. จะให้ความมั่นใจแน่นหนาอย่างไรว่า G Token จะไม่มีการปั่นราคา จะมีราคาอ้างอิง
แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาว่าโครงการนี้เป็นการชักนำผู้ออมรายย่อยที่ไม่ต้องการความเสี่ยง ให้เข้าไปเป็นผู้รับความเสี่ยง ทั้งที่เป็นความเสี่ยงสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคสูง
ก.ล.ต. แถลงข่าวด้วยว่า ”กระทรวงการ
คลังไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายต่อ ก.ล.ต. แต่จะต้องเปิดเผยข้อมูล G-Token ฯลฯ“
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้กระทรวงการคลังจะไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.
แต่ไม่ได้หมายความว่า พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งตราขึ้นในปี 2561 ให้อำนาจกระทรวงคลังออก G-Token อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ ซึ่งตราขึ้น 13 ปีก่อนหน้าในปี 2548 ในขณะที่โลกยังไม่มีสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ทั้งนี้ ในหลักการและเหตุผลของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมทั้งมาตรา 17 ที่บัญญัติว่าผู้ออกโทเคนมีแต่เฉพาะเอกชน ก็เป็นที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ผู้ที่ยกร่าง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนารมณ์ ที่จะให้เป็นเครื่องมือในการบริหารหนี้สาธารณะ
จึงขอให้แง่คิดไว้แก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกคน
วันที่ 27 พฤษภาคม 2568
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง