ครม. เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 และพิธีสาร ค.ศ. 2002 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมิเห็นชอบตามที่ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

  1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

ค.ศ. 1981 (อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155) และพิธีสาร ค.ศ. 2002 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 1981 (พิธีสารฯ)

  2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำ สัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ

  3. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในฐานะผู้เก็บรักษาอนุสัญญา (กำหนดการเดินทางไปมอบสัตยาบันสารให้กับผู้อำนวยการใหญ่ ILO ในระหว่างการประชุมใหญ่ ประจำปี ILO สมัยที่ 113 ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส)

นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ซึ่งประเทศไทย (ไทย) มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดำเนินการจัดทำนโยบายแห่งชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินการตามขั้นตอน ที่จำเป็น ทั้งปฏิบัติการระดับประเทศ เช่น

(1) การพิจารณากำหนดเงื่อนไขในการออกแบบการก่อสร้าง และการวางผังสถานที่ประกอบการ

(2) การจัดทำและปฏิบัติตามขั้นตอนในการแจ้งอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงาน

(3) ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้นำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสสารที่ใช้ในการทำงานจะดำเนินการให้เป็นที่พอใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ที่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ และปฏิบัติการระดับสถานประกอบการ เช่น

(1) นายจ้างต้องทำให้มั่นใจว่าสถานที่ทำงาน เครื่องจักร อุปกรณ์และกระบวนการภายใต้การควบคุมของตนมีความปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ

(2) คนงานหรือผู้แทนของคนงานในสถานประกอบการต้องได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อให้เกิดผลใช้บังคับตามนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพิธีสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขั้นตอนการบันทึกและการแจ้งอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดทำสถิติประจำปีด้านอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

“รง. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากรณีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 และพิธีสารฯ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง และ กต. (กรมองค์การระหว่างประเทศ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไม่ขัดข้อง และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยหาก รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ ได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ดังกล่าว อนุสัญญาฯและพิธีสารฯ ก็ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ทั้งนี้ รง. ได้ยืนยันแล้วว่า สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ได้ภายใต้กฎหมายภายในของไทย โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯและพิธีสารฯ” นายคารม  กล่าว