วันที่ 27 พ.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบังและพื้นที่ต่อเนื่องว่า ปัจจุบันบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด และ บริษัทพีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ได้ศึกษาโครงการดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางผังแม่บท กำหนดบทบาทพื้นที่ลาดกระบัง และส่งเสริมการพัฒนาด้วยมาตรการทางกฎหมายและผังเมือง พร้อมประสานความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบัง ให้สามารถดำเนินการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดี ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนสร้างสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ลดการเดินทางเข้าสู่พื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ได้ประชุมร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้พื้นที่โดยเฉพาะกรมทางหลวง มีการหารือออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ลาดกระบัง สอบถามแผนพัฒนาพื้นที่ อาคารจอดแล้วจร การขอใช้พื้นที่เพื่อออกแบบรายละเอียดและแบบก่อสร้าง เงื่อนไขการออกแบบพื้นที่ รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ใต้ถนนยกระดับเป็นจุดจอดรถโดยสารและรถขนส่งสาธารณะ และพัฒนาจุดจอดรถโดยสารสาธารณะบริเวณถนนสุวรรณภูมิ 4 โครงการพัฒนาที่จอดรถบัสรองรับนักท่องเที่ยว จุดขายของพื้นที่นันทนาการและท่าเรือสัญจรทางนํ้าริมคลองประเวศบุรีรมย์ และทางยกระดับ บริเวณสํานักงานเขตลาดกระบังชั่วคราว
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการหารือออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลาดกระบัง โครงการพัฒนาพื้นที่จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรขนาดย่อม (mini TOD) จากจุดจอดสู่สถานีรถไฟพระจอมเกล้า เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศชุมชน วิจัย พัฒนาและสร้างสรรค์เชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับชุมชนสู่ระดับนานาชาติ โครงการพัฒนาพื้นที่สัญจรและสวนสาธารณะแนวยาวบริเวณสถานีรถไฟหัวตะเข้ โรงเรียนพรตพิทยพยัต สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และซอยลาดกระบัง 15 โรงพยาบาลลาดกระบัง และโครงการพัฒนาพื้นที่สถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์บ้านทับช้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมผลการศึกษาเสนอคณะผู้บริหารพิจารณา
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีแนวทางพัฒนาพื้นที่เขตลาดกระบังเป็นศูนย์ชุมชนเมืองเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวสูง และเป็นที่ตั้งโครงการสำคัญที่เป็นทั้งแหล่งงานและที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ มีกิจกรรมการใช้ที่ดินหลากหลาย แต่ไม่เต็มศักยภาพรวมถึงโครงข่ายการขนส่งสาธารณะยังขาดการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ เกิดการพัฒนากระจุกตัวตามแนวถนนสายหลัก แต่การพัฒนาดังกล่าว ไม่ใช่พื้นที่ของกทม.เพียงหน่วยงานเดียว แต่มีพื้นที่ของหน่วยงานภายนอกด้วยทั้ง รฟม.และ ทล. จากนี้จะพิจารณาผลการศึกษา ขณะเดียวกันจะขอความร่วมมือ รฟม.และ ทล. เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขตลาดกระบังเป็นศูนย์ชุมชนเมือง นอกจากนี้จะขอความร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังให้การสนับสนุนการให้บริการรถ Shuttle Bus รับส่งประชาชนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกทม.จะเข้าไปสนับสนุนชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงถนนและทางเท้า ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานภายนอก เพราะการพัฒนาทุกอย่างจะต้องเดินไปพร้อมกัน