"สธ.-สปสช.-EACC" ผนึกกำลังขับเคลื่อน “คลินิกคุณภาพ” ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยโรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง กว่า 4.2 ล้านคน ตั้งเป้า “ตายเท่ากับศูนย์” 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน “คลินิกคุณภาพ” อย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศ มุ่งยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ที่คาดว่ามีจำนวนรวมกว่า 4.2 ล้านคน ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณ 40 คนต่อประชากรแสนคนให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระระบบสาธารณสุข และสร้างความยั่งยืนให้ระบบสุขภาพไทย ณ พิธีเปิดงานประชุมวิชาการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ครั้งที่ 20 ประจำปี 2568 

นายกองตรี ดร. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี เน้นย้ำว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 5 แซงหน้าโรคเบาหวาน ปัจจุบันคาดการณ์ผู้ป่วยโรคหืดราว 4 ล้านคน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีก 192,624 คน รวมกว่า 4.2 ล้านคนที่ต้องการการดูแลใกล้ชิด รัฐบาลจึงอนุมัติงบประมาณปี 2569 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 43 เพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเหล่านี้ สะท้อนความมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่การคัดกรอง วินิจฉัย จนถึงการรักษา โดยโมเดลคลินิกคุณภาพที่บูรณาการทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ) มิเพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยลดภาระงานของแพทย์ แก้ปัญหาแพทย์ลาออก และเสริมสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนของระบบสาธารณสุขไทย อีกทั้งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อดูแล ทุกลมหายใจสู่เป้าหมายตายเท่ากับศูนย์ 


นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 ชี้ว่า “ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กว่าร้อยละ 70 ที่ยังเข้าไม่ถึงการคัดกรองและประเมินผ่านคลินิกเฉพาะทาง สธ. จึงสนับสนุนการพัฒนา ‘คลินิกคุณภาพ’ ผ่านกลไก Service Plan และแนวทางคุณภาพคลินิก (Quality Clinic) ในระดับปฐมภูมิภายใต้เครือข่าย EACC เพื่อลดการกำเริบของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม” 

นายแพทย์ปิยะ กล่าวเสริมว่า หากส่งผู้ป่วยเข้าระบบรักษาที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้น ก็จะลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นได้ โดยสธ. ให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้ผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อ ด้านโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมุ่งบูรณาการกับสปสช. และเครือข่ายบริการในพื้นที่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนคลินิกคุณภาพได้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งเกินเป้าคือร้อยละ 60 และเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินสมรรถภาพปอดด้วย Peak Flow Meter ทุกราย โดย Service Plan จะติดตามผลลัพธ์ใกล้ชิด 

เภสัชกรคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งบรรยายพิเศษเรื่อง ระบบบริการและกลไกการจ่ายแบบเน้นคุณค่า: ยกระดับการดูแลโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง พร้อมการจัดสรรงบประมาณอย่างยั่งยืนด้วยนโยบาย Value-Based Healthcare สปสช. ได้เลือกนำร่องโมเดลนี้กับโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นแนวทางที่ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติและสอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย สปสช. วางแผนการใช้งบประมาณสำหรับโรคหืดและ COPD อย่างชัดเจนในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 – 2570) ในปีงบประมาณ 2568 เป็นปีแรกของการศึกษาทดลอง สปสช. อนุมัติงบ 51 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เพิ่มงบเป็น 61 ล้านบาท และขยายผล VBHC เต็มรูปแบบในปี 2570 ซึ่งวางงบประมาณไว้ 200 ล้านบาท สะท้อนความมุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อป้องกันการกำเริบ และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศในอนาคต โดยหัวใจสำคัญ คือ การลดการกำเริบของโรค นำไปสู่การ "ลดการนอนโรงพยาบาล" และลดอัตราการป่วยเสียชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ สปสช. จะนำกลไกการจ่ายแบบเน้นคุณค่า (Value- based payment) มาใช้ และมุ่งหวังให้โมเดลการดูแลนี้เป็นต้นแบบโรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและสร้างความยั่งยืนให้ระบบสุขภาพไทยอย่างแท้จริง 

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวถึงความสำเร็จตลอด 20 ปีของเครือข่ายว่า “ผลสำเร็จจากการดำเนินงาน EACC ตลอด 20 ปี สามารถลดอัตราการกำเริบและการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยหืดได้เกือบ 90% จึงร่วมขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ ต่อยอดจากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ แนวทางการดูแลผู้ป่วยของ EACC มุ่งเน้นผลลัพธ์การรักษาและความยั่งยืนของระบบ ใช้การติดตามสมรรถภาพปอดอย่างต่อเนื่องด้วย Peak Flow Meter และการทำงานร่วมของทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด Value-Based Healthcare เราเชื่อมั่นว่าเป้าหมายการลดการนอนโรงพยาบาลให้ใกล้ศูนย์ (Admission near 0) เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่จับต้องได้ และพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงฯ และ สปสช. สนับสนุนการขยาย ‘คลินิกคุณภาพ’ ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ EACC ยังเตรียมร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญทั้ง สธ., สปสช., คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) และภาคีเครือข่าย ให้การสนับสนุนการขยายผล VBHC ไปยังทั่วประเทศ”