"พิชัย" เผยหารือกองทุนต่างประเทศ ดึงลงทุนหุ้นไทย พร้อมปรับกฎเกณฑ์ ให้เอื้อกับการลงทุนมากขึ้น ชี้หุ้นไทยในระดับ 1,100 -1,200 จุด เริ่มเป็นที่น่าสนใจ รับบาทแข็งจากเงินไหลเข้าพันธบัตร แต่อาจไม่ใช่เงินร้อน แต่มาพักเงินเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจอาจโยกมาลงทุนหุ้นได้ ลุยปรับทิศทางเศรษฐกิจสร้างการเติบโตระยะยาว
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอร์ค 2025 หัวข้อ “เสน่ห์หุ้นไทย : ผลักดันเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อเร็วนี้ตนได้มีการหารือกับนักลงทุนสถาบัน (กองทุน)ขนาดใหญ่เกี่ยวกับการลงทุนหุ้นในประเทศไทย โดยกองทุนขนาดใหญ่เหล่านี้แต่เดิมนั้นมีการลงทุนในประเทศไทยมาก่อน แต่ในระยะหลังมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในไทยมีการลงทุนก็ยังมีการลงทุนมากในระดับแสนล้านบาทแต่บางกองทุนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาแม้การลงทุนในต่างประเทศจะได้ผลดี แต่ก็คงจะทราบว่า 5 – 6 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นในประเทศก็มีปัญหามากดังนั้นที่คาดหมายว่าจะได้ผลตอบแทนมากก็อาจจะไม่ได้อย่างที่คิด
นอกจากนั้นจากการพูดคุยกับนักลงทุนสถาบันก็เห็นแล้วว่าหุ้นไทยนั้นลงมามาก เป็นจุดที่นักลงทุนกลุ่มนี้อยากจะมานั่งดูว่าจะมีการปรับสัดส่วน หรือหลักเกณฑ์ในการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มอย่างไร ซึ่งในส่วนของภาครัฐก็พร้อมที่จะปรับกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนในหุ้นไทยได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ที่รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.กำกับหลักทรัพย์ที่ใกล้จะประกาศใช้ในขณะนี้ โดยการลงโทษเอาผิดกับ Naked short ถ้าตรวจสอบได้ มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตมากขึ้น ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ก็ได้ให้โจทย์ว่าควรจะปรับโครงสร้างการดำเนินงานที่เป็นการปรับเปลี่ยนโครสร้างประเทศ รองรับทิศทางโลก เช่น เรื่องกรีน หรือ ESG
“ได้คุยกับกองทุนฯ หารือในเรื่องนโยบายนการลงทุนใหม่ๆ ว่าจังหวะดัชนีหุ้นไทยแบบนี้จะสามารถเข้ามาลงทุนได้อย่างไร เชื่อว่าเสน่ห์หุ้นไทยมีอยู่ ตราบใดที่เข้าใจพื้นฐาน และไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดี แต่นักลงทุนส่วนใหญ่หยุดดู wait and see ทุกคนไม่ได้ทิ้ง แต่ดูว่าไทยทำอะไรต่อไป ตราบใดที่เชื่อว่าตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเชื่อว่าหุ้นไทยยังมีเสน่ห์และนักลงทุนไทยมีความคุ้นเคยและเข้าใจ”
เมื่อถามว่าหุ้นไทยมีเสน่ห์แต่ตอนนี้การปรับสัดส่วนจากกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) มาเป็นกองทุน Thai ESGX มากเท่าที่ควร นายพิชัยกล่าวว่าในส่วนนี้การโยกย้ายเงินลงทุน นักลงทุนในกลุ่มนี้ค่อนข้างที่จะยังมีสภาพคล่องที่ดี ดังนั้นก็คงอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะโยกย้ายเงินลงทุนเมื่อไหร่ ในส่วนไหน
สำหรับเรื่องของค่าเงินบาที่แข็งค่าในขณะนี้นายพิชัย ยอมรับว่ามาจากกระแสเงินทุนไหลเข้า แต่ตอนนี้ก็ต้องจับตาว่าเงินที่เข้ามาในขณะนี้เป็นเงินที่มาลงทุนระยะสั้นหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯและการถือเงินดอลลาร์ด้วย โดยเงินในส่วนนี้เข้ามาที่พันธบัตรก่อน เพราะนักลงทุนมองว่าเมื่อมีการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรนั้นได้ผลตอบแทนทันทีและปลอดภัย ไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้นที่อาจต้องรอก่อน เพราะหุ้นเป็นไปตามความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ที่จะมาจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวด้วย โดยนอกจากมาลงทุนในพันธบัตรก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเป็นการลงทุนในหุ้นได้เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆซึ่งปัจจุบันมีสัญญาณว่านักลงทุนมีความพร้อมมากขึ้นที่จะย้ายการลงทุนมา เราก็ต้องทำให้ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนให้มีการผลิตและจ้างงานในประเทศควบคู่กับการพัฒนาแรงงานให้อยู่ในหน่วยวิจัย ซึ่งตอนนี้การดึงลงทุนจะถามละเอียดแบบนี้ ส่วนกฎหมายที่ดินนั้นตอนนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์ที่ให้เช่าใช้ที่ดินระยะยาว หรือให้ใช้ที่ดินของรัฐ โดยให้ใช้ 99 ปีแล้วกลับมาเป็นสิทธิ์ของรัฐ ดีกว่าให้เขาไปขอใช้สิทธิ์จากบีโอไอแล้วซื้อที่ดิน ควบคู่กับเรื่องน้ำ และไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีโครงการต่างๆค่อนข้างมาก และมียอดวงเงินรวมถึง 4 ล้านล้านบาท ทำให้ได้สั่งการให้ไปบริหารจัดการแต่ละโครงการว่าอะไรที่สามารถทำได้บ้างในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 68-71
ทั้งนี้ หากดูจีดีพีไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ระดับเกิน 3% แต่ไม่มีมูลค่ามากเท่าที่ควร แต่ยอมรับว่าจีดีพีไตรมาสแรก เติบโต 3.1% ได้สะดุด และการคาดการณ์หลายหน่วยงานจีดีพีทั้งปี 68 หายไป 1% เหลือเพียง 1.2-1.8% เท่านั้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การกระตุ้นด้วยการเพิ่มกำลังซื้อต้องชะลอออกไปก่อน ซึ่งงบประมาณปี 68 ที่มีอยู่ 1.57 แสนล้านบาท ที่จะต้องทำในช่วง 3 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างวางกรอบ กลั่นกรอง และเชื่อมงบกับปี 69 และปีงบ 70 ทั้งเรื่องน้ำ ภาคเกษตร ถนน ขนส่ง และท่องเที่ยว
สำหรับความคืบหน้าในการสนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซีให้สามารถใช้ในการซื้อขายสินค้าได้นั้นเป็นการใช้คริปโตที่ไม่ได้เกี่ยวกับสกุลเงินในประเทศแต่ใช้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่รับชำระสินค้าโดยใช้คริปโตฯได้ซึ่งการแลกเปลี่ยนก็จะไม่ได้เกี่ยวกับค่าเงินในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยดูตัวอย่างจากในต่างประเทศที่มีการมาทำเรื่องนี้