อธิบดี ปภ.นั่งหัวโต๊ะ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนใน จ.เชียงราย กำชับจังหวัดเร่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในทุกมิติ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมรับมือเหตุอุทกภัย

วันนี้ (26 พ.ค. 68) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมอูหลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนปี 2568 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 โดยปีนี้จะมีปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละห้า โดยในช่วงปลายเดือน พ.ค. - ก.ค. 68 ประเทศไทยตอนบนอาจมีพายุหมดเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 23 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที รวมถึงสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการลงพื้นที่เกิดภัย เพื่อปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามข้อสั่งการฯ 

“เมื่อวานนี้ได้ไปลงพื้นที่ อ.แม่สาย เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น พบว่าระดับน้ำลดลง และสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เหลือเพียงคราบดินโคลนที่ยังต้องเร่งทำความสะอาด อย่างไรก็ตาม คืนที่ผ่านมา (25 พ.ค. 68) เกิดฝนตกตลอดทั้งคืน ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลอง รวมไปถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จึงขอฝากจังหวัดให้ความสำคัญกับการติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และระดับน้ำในแหล่งน้ำอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์ หอเตือนภัย ในกรณีที่ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มที่จะสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นจนเกิดอันตรายกับประชาชนในพื้นที่ ให้ประสานมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทันที ซึ่งหาก ปภ. โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประเมินแล้วพบว่าเข้าเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินด้วย Cell Broadcast ปภ. จะทำการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ไปยังประชาชนที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทันที"  อธิบดี ปภ. กล่าว

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์และรับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และ GISTDA เพื่อประกอบการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยมีความแม่นยำ สามารถแจ้งเตือนภัยประชาชนได้อย่างตรงจุด ขอให้จังหวัดและอำเภอซึ่งเป็นกลไกในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด ทราบสถานการณ์ และตรวจสอบเหตุการณ์ในพื้นที่ได้ทันที ติดตามสถานการณ์และส่งข้อมูลให้ ปภ. เพื่อให้ ปภ. ทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

“ในส่วนของการเผชิญเหตุให้ความช่วยเหลือประชาชน ตอนนี้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงรายได้สนับสนุน เครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ประสบภัยเรียบร้อยแล้ว และเพื่อเตรียมการรับรองสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตนได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ภาคกลางระดมสรรพกำลังทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการมาประจำ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนกลับไปประจำยังพื้นที่ภาคกลางในช่วงที่สถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือเบาบางลง ดังนั้น หากจังหวัดประเมินแล้วคิดว่าทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอในการปฎิบัติงาน ขอให้แจ้งมายัง ปภ. เพื่อ ปภ. จะได้สนับสนุนสรรพกำลังและเครื่องจักรกลเข้าพื้นที่และเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที“ 

สำหรับสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักสารหนูในแม่น้ำกก วันนี้ที่ประชุมได้หารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะแม่น้ำกกถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญและประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประชาชนโดยตรง โดยต้องใช้กลไกทุกกลไก ช่องทางทุกช่องทางที่มีเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งในระดับหน่วยงานในประเทศและกับประเทศเมียนมา ซึ่ง ปภ.จะได้ประสานการทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในประเด็นสารตกค้างในแม่น้ำและแนวทางในการแก้ไข รวมถึงประสานการประปาดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน 

“ภัยพิบัติเกิดได้ทุกที่และทุกเวลา ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากกว่าเดิม ขอให้จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยตลอดเวลา ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพ เพื่อลดผลกระทบจากสาธารณภัย ให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวเน้นย้ำ

ท้ายนีั ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสาธารณภัยและการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert (TDA) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X@DDPMNews ทั้งนี้หากประชาชน ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อนทาง LINE ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป