“สวนดุสิตโพล” ชี้ปชช.มองคดี “ฮั้วสว.” สะท้อนสรรหาไม่โปร่งใส ฉุดความเชื่อมั่นระบบการเมืองไทย จี้ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ด้าน “เพื่อไทย” ห่วง “ยิ่งลักษณ์” คดี “จำนำข้าว” เตรียมใช้ช่องทางกฎหมายสู้ต่อ แย้มเห็นช่องขายข้าว 18.9 ล้านตัน เป็นหลักฐานใหม่
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.)แถลงว่า พรรคเพื่อไทยห่วงใยและสงสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าว เพราะทราบดีว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นหนึ่งในเหตุผลของการยึดอำนาจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในปี 2557 ซึ่งเวลาผ่านไปกว่า 10 ปีเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีทีมกฎหมายทีมทนายที่ร่วมต่อสู้คดี และเมื่อคดีถึงที่สุดทางพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องน้อมรับคำตัดสินและจะใช้ช่องทางกฎหมายเท่าที่เหลืออยู่ต่อสู้ในคดีนี้ต่อไป
นายดนุพร กล่าวว่า ทางพรรคเองเป็นกำลังใจให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังคดีตัดสินมีการสอบถามมายังพรรคเยอะมาก จึงได้มีการพูดคุยกับฝ่ายกฎหมายและผู้ใหญ่ของพรรค พบว่า คดีนี้ยังมีช่องทางที่ยังพอต่อสู้คดีได้ เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว มีการขายข้าว 18.9 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นหลักฐานใหม่ที่จะนำไปสู่การขอให้ศาลปกครอง พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดได้ภายใน 90 วันตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2542
“หลักฐานใหม่นี้เป็นการขายข้าวปีที่แล้ว ที่ยังไม่ได้หยิบยกเข้ามาพิจารณาคดี พรรคเพื่อไทยจึงมองว่าเป็นหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณา จึงจะใช้ช่องทางทางกฎหมาย ในการต่อสู้ต่อไป คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติยึดอำนาจ ผู้นำในขณะนั้นใช้อำนาจตามมาตรา 44 หลายฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าว แต่แน่นอนว่าเราจะสู้กันไปโดยใช้หลักฐานตามช่องทางกฎหมาย” นายดนุพร กล่าว
นายดนุพร กล่าวว่า ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยหลังมีคำพิพากษาว่า เพจของพรรคมีการลงเรื่องราวเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น นายดนุพร กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ในการหาเสียงเมื่อปี 2554 ส่วนหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาจากนโยบายนี้ อีกทั้งได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็นนโยบายหลักที่จะทำให้เกษตรกรชาวนาลืมตาอ้าปากได้ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่พรรคเพื่อไทย ต้องลงชี้แจง พูดถึงข้อเท็จจริงในเรื่องของคดีนี้ ว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร
ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คดีมาตรา 112 นายดนุพร กล่าวว่า ในช่วงการเปิดสมัยประชุมสภาฯ 3 กรกฎาคม วันที่ 9 กรกฎาคมจะมีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นไม่อยากให้ถกเถียงนอกสภาว่ามาตรา 112 เป็นการเมืองหรือไม่ เมื่อมาถึงขั้นตอนพิจารณา จะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยถกเถียงอธิบายกันในสภา เพื่อหาข้อสรุปต่อไป
“ส่วนกรณีที่มีนักกฎหมายบางคน ให้ความเห็นว่า การขายข้าวไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานใหม่ได้ เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา แต่จะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนาที่สุดและขอความเมตตาจากศาล” นายดนุพร กล่าว
ด้าน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศที่สนใจติดตามข่าวการเมืองเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีข่าวฮั้ว สว.” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,211 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม 2568 พบว่า จากกรณีข่าวฮั้ว สว. ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองไทย ในปัจจุบัน ร้อยละ 56.73 โดยคิดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากระบบการเลือกตั้ง และความไม่โปร่งใสในกระบวนการขั้นตอน ร้อยละ 60.36 ทั้งนี้ความขัดแย้งครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล ร้อยละ 66.15 ด้านการแก้ปัญหาควรเร่งปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สว. ร้อยละ 61.81 สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบ คือ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในสังคม เกิดความขัดแย้งทางความคิด ร้อยละ 57.12
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลสะท้อนว่าจากกรณีข่าว ฮั้ว สว. ประชาชนไม่เพียงแค่ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมือง แต่ยังต้องการให้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง สว. และกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นและความรู้สึกไม่มั่นคงในประชาธิปไตยเป็นสัญญาณที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจก่อนจะกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฏหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า กรณีข่าว “ฮั้ว สว.” ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา สว. แต่ยังตอกย้ำถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนดูพัฒนาการทางการเมืองจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การได้มาซึ่ง สว. สะท้อนถึงอำนาจที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ทั้งการเกิดขึ้นของ “สภาผัวเมีย” หรือ “ปลาสองน้ำ” ล้วนแสดงให้เห็นถึงการแทรกซึมของฝ่ายการเมือง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช. มีบทบาทในการแต่งตั้งและสรรหา สว. ยิ่งสร้างข้อกังขาต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ทั้งนี้ สถานะของ สว. ที่ควรเป็นกลไกตรวจสอบกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และนำมาซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการได้มาซึ่ง สว. ดังนั้น ความคาดหวังของประชาชนจึงมิได้อยู่ที่การเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยและมีความถูกต้องยุติธรรมในกระบวนการ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ เราจะปฏิรูปอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับบริทบทางการเมืองของประเทศไทย