ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับเทศกาลตรุษจีน 2562 ในปีนี้หลายภาคส่วนต่างเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ โดยอีกสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงวันขึ้นปีใหม่จีนนี้เช่นกันก็คือเรื่องของ “ปีชง” และ “ไท้ส่วยเอี๊ย”เทพเจ้าแห่งดวงชง (เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา) ไท้ส่วยเอี๊ย 60 องค์ หนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพอย่างมากและจะนิยมไปไหว้ขอพรกันในช่วงเทศกาลตรุษจีนคือ “ไท้ส่วยเอี๊ย” หรือ “เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา” ด้วยเชื่อกันว่าเป็นเทพผู้มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละปี - “ไท้” แปลว่า ใหญ่กว่า หรือ กว่า - “ส่วย” แปลว่า วัย หรือ อายุ - “เอี๊ย” แปลว่า เทพเจ้า หรือ คนที่มีอำนาจบารมี ตามตำราระบุว่า “ไท้ส่วยเอี๊ย” มีทั้งหมด 60 องค์ แต่ละองค์มีชื่อแตกต่างกัน โดยจะทำหน้าที่ “รักษา” หรือเรียกว่า “เฝ้าปี” ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนกันลงมาทำหน้าที่องค์ละ 1 ปี เชื่อกันว่าไท้ส่วยเอี๊ยมีอำนาจ “ให้คุณ” และ “โทษ” แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับปีนั้นๆ ทั้งนี้เมื่อแต่ละคนมีอายุครบ 60 ปี จึงเท่ากับได้ฝากชะตากับไท้ส่วยเอี๊ยครบทุกองค์ ก่อนที่จะขึ้นรอบใหม่ "ไท้ส่วยเอี๊ย"  วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่ 1) กทม. * เทพแห่งดวงชง * ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร สิกโกศล ผู้รู้ด้านศิลปวัฒณธรรมไทยและจีน กล่าวว่า “ไท่ซุ่ย” หรือ “ไท้ส่วย” เป็นราชาของปีทั้งหลาย ในสมัยโบราณถ้าเป็นกษัตริย์ถือว่าเป็นสิ่งมงคล แต่หากเป็นชาวบ้านกลับเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเชื่อกันว่าศักดิ์ของดาวสูงกว่า ด้วยเหตุนี้ในปีนั้นชาวบ้านจึงไม่นิยมทำการมงคล เนื่องจากสมัยก่อนมีเรื่องเรื่องความเชื่อเรื่องสถานะและการแบ่งชนชั้น เมื่อไท้ส่วยตรง (ชง)กับปีของตัวเอง จึงเชื่อกันว่าจะมีเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องสถานะลดลง ดังนั้นจึงควรเข้าใจว่า “ไท้ส่วย” เป็นดาวประจำปี เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัย
คนจีนแม้ว่าจะเชื่อในอำนาจลี้ลับ แต่จะไม่เชื่อจนสุดโต่งจนทำอะไรไม่ได้ แต่จะเชื่อเพื่อเกิดความสำรวมระวัง แล้วต้องพึ่งความพยายามของตนเอง
สำหรับคนที่ไม่ชง ถือว่าไท้ส่วยเป็นเทวดาประจำปี ขอให้ท่านคุ้มครองรักษา และถือว่า “ชง” หรือ “ไม่ชง” อยู่ที่คน เพราะไท้ส่วยท่านมาตรวจรักษากฎธรรมชาติ รักษากฎของศีลธรรมตามหน้าที่การชงมี 3 แบบ 1. ชงปีเกิด (หนี่ชง)ไท้ส่วยตรงกับปีเกิดของเรา คืออายุครบ 12, 24, 36 … ทับปีเกิดเราถือว่าชงใหญ่ แต่ในมืองไทยไม่ค่อยกล่าวถึง 2. ชงตรงข้ามกัน (ตุ้ยชง) คือห่างกัน 6 ปี เพราะอยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งในเมืองไทยให้ความสำคัญกันมาก และ 3. ชงรอบ 3 ปี (เทียนชง) คือก่อนเราเกิด 3 ปี และหลังเราเกิด 3 ปี … ความจริงเรื่องชงและวิธีแก้เพิ่งเริ่มมาไม่นาน โดยในสมัยก่อนคนจีนจะทำป้ายไท้ส่วยไหว้ที่บ้าน และสวดมนต์ทุกวัน พอถึงวันส่งเจ้าก็จะนำไปเผา อย่างไรก็ตาม “ชง” ไม่ได้หมายความว่า ไม่ดีทั้งหมด เพราะจุดใหญ่ของการชงคือ “จุดเปลี่ยน” ของชีวิต อาจจะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” ก็ได้ ซึ่งจริงๆต้องลงลึกดูทั้ง “วัน - เดือน – ปีเกิด - เวลา” และนำไปคำนวณว่าชงหรือเปล่า ซึ่งอาจจะกลายเป็นดีก็ได้ ดังนั้น “ชง” จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกใจ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวมาก เพราะจริงๆเป็นเรื่องเล็กในโหราศาสตร์จีนเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าร้ายทั้งหมด หลักใหญ่คือ “แจ้งให้รู้” ได้ตั้งรับจุดเปลี่ยน รับสถานการณ์” ผศ.ถาวรกล่าวเสริม "ไท้ส่วยเอี๊ย" วัดจีนบำเพ็ญพรต กทม. ผู้รู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและจีนกล่าวอีกว่า ในแง่วิทยาศาสตร์ว่า “ชง” เป็นเรื่องของ “จุดเปลี่ยน” ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเรา ส่วนที่ว่า 3 ปี ชงเล็ก - 6 ปี ชงใหญ่ - 12 ปี ชงมาก จริงๆแล้วเป็นเรื่องของการ “เปลี่ยนวัย” คนจีนถือว่าเป็นชงที่แรงมากคือ อายุ 24 ย่าง 25 ปี ซึ่งของไทยคือเข้าเบญจเพส เนื่องจากในวัยนี้เป็นวัยคะนองใช้ชีวิตไม่สำรวมระวัง พออายุ 36 ปี เข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งคนที่อยู่ในวัยนี้จะมีทั้งที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็มักจะมีความกร่าง ความทนงตน เข้าสู่อายุ 48 ปี ก็อยู่ในวัยที่เริ่มชรา และเมื่ออายุ 60 ปี เข้าสู่วัยที่ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงถดถอยชัดเจน เป็นต้น ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “ระวัง” และใช้ชีวิตอย่าง “ไม่ประมาท” ผศ.ถาวรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ชง” ที่สำคัญของเรื่องมนุษย์ คือ ชงกับศีลธรรมที่ดีงาม ชงกับกฎระเบียบของมนุษย์ ชงกับความเป็นจริงของธรรมชาติ .. เราอย่าทำตัวชงกับความถูกต้องดีงามของสังคม อย่าชงกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ...
เรื่อง “ชง” คือเป็นเรื่องให้ระวังตัว จึงควรใช้ปีชงเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองไปสู่ความดี เพราะถ้าไม่ชงก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลง
* ปีชง .. ปีกุน * ในปี 2562 ซึ่งตรงกับปีกุน ไท้ส่วยเอี้ยประจำปีคือ “ขุนพลเจี่ยไถ่ไต่เจียงกุง” โดย "ปีชง" (ปีที่ได้รับผลเสียมากที่สุดหรือที่เราเรียกกันว่าชงโดยตรง100%) ได้แก่ ปีมะเส็ง ส่วน "ปีคัก" (ปีที่เป็นปีนักษัตรเดียวกับปีนั้นๆ) ได้แก่ ปีกุน ขณะที่ "ปีเฮ้ง" ( ปีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเคราะห์กรรม) ได้แก่ ปีขาล และ "ปีผั่ว" (ปีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องสุขภาพ) ได้แก่ ปีวอก * วิธีแก้ “ปีชง” * ตามความเชื่อของคนจีนนิยมแก้ปีชงด้วยการไหว้ “ไท้ส่วยเอี๊ย” ตามวัดหรือศาสลเจ้าต่างๆ เชื่อกันว่าไท้ส่วยเอี้ยจะช่วยปัดเป่าความทุกข์ บรรเทาเคราะห์กรรม และช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต โดยทั่วไปมีขั้นตอนดังนี้ 1. ซื้อชุดสะเดาะเคราะห์แก้ปีชง ประกอบด้วยใบฝากดวงแก้ปีชง (ผู้ที่เป็นปีชงแต่ไม่ได้ไป สามารถฝากคนอื่นให้ทำแทนได้) 2. เขียนชื่อ-นามสกุล อายุ วัน เดือน ปีเกิด และเวลาตกฟาก ลงในใบฝากดวงแก้ปีชง ถ้าช่องไหนไม่รู้ให้เติมคำว่า "ดี" ลงไปแทน ทั้งนี้จะมีตารางนับอายุแบบจีนให้เทียบดูด้วย 3. ไหว้องค์ไท้ส่วยเอี้ย โดยอธิษฐานขอบารมีองค์ท่านช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้แคล้วคลาดปลอดภัยตลอดทั้งปี (สามารถอ่านคำอธิษฐานได้ในใบฝากดวง) 4. นำใบฝากดวงแก้ปีชง ปัดออกจากตัวเอง 12 ครั้ง (ในกรณีที่ทำแทนคนอื่น ไม่ต้องปัด ให้อธิษฐานแทน) 5. เมื่อปัดเสร็จแล้วก็ให้นำใบฝากดวงวางไว้ที่ด้านหน้าไท้ส่วยเอี้ย ซึ่งจะมีกล่องรับวางอยู่ .. คติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแห่งดวงชะตาและปีชง นอกจากจะแสดงถึงความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติของชาวจีนที่สืบมาแต่อดีตแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของการเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทอีกด้วย .. (ข้อมูลส่วนหนึ่ง - งานเสวนาปัญญาภิวัฒน์ ครั้งที่ 23 ไท่ซุ่ย : เทพแห่งดวงชงของจีน) ............................................................... >> บทความที่เกี่ยวข้อง << - วันไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน 2562 https://siamrath.co.th/n/62186 - ไหว้เทพเจ้าเสริมดวงชะตา เสริมสิริมงคลต้อนรับตรุษจีน https://siamrath.co.th/n/62844