ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ชีวิตนั้นเลือกได้จริงหละหรือ เพราะหลายคนนั้นเหมือนไหลเลื่อนไปเรื่อย ๆ หรือมี “พรหมลิขิต” เลือกให้?

ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดไม่ถึงปี (สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงภายเหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2488) ตอนปลายปี 2487 ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการก็ก่อตั้งขึ้น ผู้ก่อตั้งคนสำคัญคนหนึ่งก็คือพระพินิจชนคดี พี่เขยของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พี่สาวของท่านคือ ม.ร.ว.บุญรับ ก็ได้ชวนให้ท่านร่วมเป็นผู้บริหารของธนาคารด้วย แต่ดูเหมือนว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้ทำงานที่ธนาคารนั้นอย่างเต็มตัว  ส่วนหนึ่งก็เพราะยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ส่วนท่านก็ยังได้ไปรับงานภายนอก คือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ พร้อมกับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานการเมืองอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ท่านทำงานหลักอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารหลายคนของธนาคารก็ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยกันหลายคน จึงได้ชวนให้ท่านไปช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยนั้นด้วย เริ่มต้นก็ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสอนวิชาการธนาคาร (มีลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ที่ยังไม่มาหาสู่กันและได้มาร่วมงานทางการเมืองกันภายหลังที่โด่งดังอยู่ท่านหนึ่ง คือ นายบุญชู โรจนเสถียร อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯจำกัด ต่อมาได้ร่วมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก่อตั้งพรรคกิจสังคม ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน พ.ศ. 2518 และได้เล่นการเมืองมาอีกระยะหนึ่ง มีฉายาว่า “ซาร์เศรษฐกิจ”) ต่อมาก็ได้มาสอนที่คณะพาณิชยศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาการการเงินการธนาคารและวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในช่วงที่ “รับจ๊อบ” เป็นอาจารย์อยู่นี้ก็มีคนชวนให้เขียนบทความหนังสือพิมพ์ เท่าที่ท่านจำได้ก็เขียนลงหลายฉบับ คือ เกียรติศักดิ์ สยามนิกร นครสาร และสยามสมัย เป็นต้น

พอสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บรรยากาศของบ้านเมืองก็ดูปลอดโปร่ง หลายสิ่งหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็หมดอำนาจ แถมยังโดนตั้งข้อหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม (แต่การสอบสวนเอาผิดดำเนินไปอย่างมีเลศนัย ที่สุดก็เอาผิดจอมพล ป.ไม่ได้ แต่กระนั้นก็ได้ทำให้จอมพล ป.ต้องหลบหน้าผู้คนไปช่วงเวลาหนึ่ง โดยไปทำการเกษตรอยู่แถวจังหวัดนครนายก) คณะราษฎรในฝ่ายพลเรือนได้ขึ้นมามีอำนาจแทน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทยในประเทศไทยและได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ไทยไม่สูญเสียเอกราชให้กับญี่ปุ่นเป็นผู้นำ และได้แต่งตั้งให้ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผู้นำเสรีไทยในต่างประเทศ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงหลังสงครามโลกนั้นอยู่ชั่วขณะ ต่อจากนั้นก็ให้ท่านอาจารย์เสนีย์เป็นหัวหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉบับ พ.ศ. 2489 พร้อมกับมีข่าวว่าจะให้มีการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้โดยเร็ว

เรื่องบรรยากาศทางการเมืองในช่วงปี 2489 นี้ เป็นคำบอกเล่าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในการให้สัมภาษณ์กับผู้เขียน โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในโครงการ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากคำบอกเล่าของพลตรี ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ใน พ.ศ. 2534 เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานเป็นอาจารย์ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด การสัมภาษณ์ทำไปได้สัก 5 ครั้ง จนได้เนื้อหาถึงช่วงการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะ จึงไม่ได้ทำการสัมภาษณ์ต่อ จนกระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2538

ช่วงที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 อยู่นั้น พวกที่อยากจะลงสมัครรับเลือกตั้งก็รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อน ๆ ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักหนังสือพิมพ์ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย โดยที่รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ได้มีบทบัญญัติที่จะให้มีการตั้งพรรคการเมือง ท่านจึงจัดตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ขึ้นมาเตรียมไว้ ถือได้ว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ทำให้มีพรรคการเมืองอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายพรรค แต่ก็เป็นพรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวนนับสิบพรรค จนเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว พรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านั้นก็มารวมกัน ส่วนหนึ่งไปสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็มี ส.ส.จำนวนมากที่อยากสนับสนุนนนายควง อภัยวงศ์ อดีตคณะราษฎรอีกคนหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับ ส.ส.เหล่านั้น ตั้งเป็น “พรรคประชาธิปัตย์” มีนายควงเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งมีความสำคัญในพรรคเป็นอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนเป็น “แม่บ้าน” หรือ “ผู้จัดการพรรค” และได้มีบทบาทอย่างแข็งขันในฐานะผู้นำการต่อสู้กับกลุ่มของนายปรีดีในสภานับตั้งแต่นั้น

นายสละ ลิขิตกุล นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยในยุคที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เริ่มเล่นการเมือง ได้เล่าถึงการทำงานการเมืองของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในสมัยนั้นว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนนำรูปแบบการหาเสียงแบบที่ทำกันอยู่ในประเทศอังกฤษมาใช้ในการหาเสียงในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 คือการจัดวงปราศรัยตามที่สาธารณะ และการเคาะประตูบ้าน  การปราศรัยในที่สาธารณะก็มีตั้งแต่การตั้งโต๊ะขึ้นปราศรัยตามที่ชุมชน เช่น ตามตลาด ท่ารถ และท่าเรือ (ในอังกฤษเรียกว่า Soap Box Speaking โดยมีการนำลังสบู่มาวางให้ผู้หาเสียงเหยียบขึ้นไปยืนปราศรัย) ไปจนถึงการสร้างเวทีขึ้นตามชุมชน (ในอังกฤษจะใช้สวนสาธารณะเป็นที่ปราศรัย เช่น ในลอนดอนจะใช้สวนที่ชื่อ Hyde Park การหาเสียงแบบนี้จึงเรียกกันติดปากว่า “ไฮด์ปาร์ก”) ส่วนการเคาะประตูบ้านก็เป็นด้วยลักษณะการสร้างบ้านเรือนของคนอังกฤษ ที่สร้างติดต่อกันเป็นเรือนแถวในชุมชนต่าง ๆ เรียงหน้ากระดานไปตามถนน ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะเดินไปเคาะที่ประตูบ้านทีละหลัง เมื่อคนในบ้านออกมาก็แนะนำตัวหรือแจกแผ่นพับโฆษณา แล้วเดินทำแบบเดียวกันนี้ไปทุก ๆ บ้านบนถนนต่าง ๆ จนครบทุกบ้าน หรือให้ได้มากที่สุด

แต่พอมาทำที่ประเทศไทย ถ้าเป็นในเขตย่านร้านตลาดก็พอจะเดินเคาะไปทีละหลังได้บ้าง เพราะผู้คนก็จะอยู่ในร้านรวงหรือตึกแถวติดต่อกันไป แต่ถ้าเป็นชุมชนคนไทย บ้านแต่ละหลังก็มักจะอยู่กระจาย ๆ กัน หรือไม่ก็อยู่ในเรือกสวน ที่บ้านไม่ได้ติดกัน แต่จะอยู่ห่างกันตามพื้นที่ของไร่และสวนดังกล่าว การเดินเคาะตามบ้านจึงค่อนข้างจะลำบาก กระนั้นก็ได้ทำให้เกิดมีการหาเสียงแบบไทย ๆ ขึ้นมา คือ เจ้าของบ้านเมื่อได้ยินหรือทราบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งมาหาเสียง ก็จะออกไปเชิญชวนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นกับคณะที่มาหาเสียงเข้าไปใน “คุยกันในบ้าน” พร้อมกับเลี้ยงดูปูเสื่อตามสมควร ตามแบบวัฒนธรรมไทย คือ “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ตั้งแต่มีน้ำดื่มและขนมนมเนยหรือผลไม้ตามฐานะ ไปจนถึงอาหารคาวหวานเต็มสำรับ หรือเชิญผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมรับประทาน และฟังการหาเสียงของผู้สมัครคนนั้น ๆ ด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า การหาเสียงแบบ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” นี้ น่าจะพบเห็นได้แต่ที่ในเมืองไทยเท่านั้น สำหรับคนที่ไปเคาะประตูบ้านก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธเจ้าของบ้าน และยิ่งเมื่อเขาเชิญให้เข้าบ้านก็ไม่อาจจะเสียมารยาทตอบปฏิเสธได้ แน่นอนว่าเมื่อเจ้าของบ้านนำสิ่งใดมาเลี้ยงดูก็ต้องร่วมรับประทานด้วยความยินดี ถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน รวมถึงความเป็นมิตร และที่สำคัญความสัมพันธ์แบบไทย ๆ “ความเป็นกันเองเหมือนญาติ”

การเดินหาเสียงแบบนี้ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่สร้างความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับผู้ลงคะแนนแล้ว ยังทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อย่างที่เรียกว่า “ลึกซึ้งถึงก้นครัว”

“ผมยังรู้อีกด้วยว่า บ้านไหนตำน้ำพริกอร่อย หรือมีสูตรเด็ดเคล็ดลับในการทำกับข้าวอะไรอย่างไร” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เน้นย้ำ