ดร.พท.คณิศร์ณิชา ชาญภา ผู้อำนวยการ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย และรองคณบดีวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ให้ข้อมูลกรณีผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีส่วนผสมของ “โกฐสอ” สมุนไพรไทยที่ถูกนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งกำลังตกเป็นประเด็นในสังคมถึงความปลอดภัยและความถูกต้องตามกฎหมาย หลังมีรายงานว่ามีการนำไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ดร.พท.คณิศร์ณิชา อธิบายว่า “โกฐสอ” หรือที่รู้จักในชื่อจีนว่า “แป๊ะลี้” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelica dahurica เป็นพืชสมุนไพรในวงศ์ผักชี (APIACEAE) ใช้ส่วนหัวและรากเป็นยาในตำรับแผนไทยมาแต่โบราณ โดยมีสรรพคุณในการแก้ไอ หอบหืด ขับเสมหะ ขับลมในกระเพาะอาหาร บำรุงหัวใจ และแก้อาการสะอึก มีรสสุขุม กลิ่นหอม และสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้ในศาสตร์สุคนธบำบัด โดย “โกฐสอ” เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 24 ขนาน ที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 โดยต้องใช้ตามขนาดและปริมาณที่กำหนดอย่างชัดเจน

แม้โกฐสอจะมีคุณประโยชน์ทางยาหลากหลาย แต่จากงานวิจัยพบว่า หากใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตสูง อาเจียน หรือเป็นอัมพาตได้ ดังนั้นผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโกฐสอ ได้แก่ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ส่วนกรณีที่เป็นข่าว คือมีผู้ประกอบการว่าจ้างให้โรงงานผลิตยาดมโดยอ้างว่าจะส่งออกต่างประเทศ และมีการปรับสูตรโดยเพิ่มโกฐสอเข้าไป แม้ต้นฉบับจะมีเลขทะเบียน อย. อย่างถูกต้อง แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกลับถูกนำออกมาจำหน่ายภายในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นยาเถื่อน และ ผิดกฎหมายอาหารและยา หากผู้ว่าจ้างเป็นแพทย์แผนไทย ยังอาจเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ และต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา

ดร.พท.คณิศร์ณิชา เสนอแนะถึงผู้บริโภคว่า ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียน อย. อย่างถูกต้องหรือไม่ ผลิตโดยสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ขณะเดียวกันภาครัฐควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่วางขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยาเถื่อนหรือยาไม่ได้มาตรฐาน

“สมุนไพรไทยมีคุณค่าและสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย หากอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีความรู้ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ดร.พท.คณิศร์ณิชา กล่าว