ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการศึกษาเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสในการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างที่ควรจะได้รับ เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ ท่ามกลางภาพความเหลื่อมล้ำนี้ “โรงเรียนพระดาบส” ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นต้นแบบของการศึกษาทางเลือกที่ให้ “โอกาส” และเปิดกว้างแก่ผู้ด้อยโอกาส

โรงเรียนพระดาบส สังกัดมูลนิธิพระดาบส ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ดำเนินการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระประสงค์จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เยาวชนได้มีวิชาชีพติดตัว และทำมาหารายได้เลี้ยงตนเองได้ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ด้วยหลักสูตรประจำระยะเวลา 1 ปี ที่เน้นการฝึกทักษะวิชาชีพควบคู่กับการฝึกวินัยและคุณธรรม ใช้ชีวิตแบบอยู่ประจำ และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยผู้เรียนจะได้รับพระราชทานทุนการศึกษาครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน อาหาร และที่พักอาศัย   ปัจจุบันโรงเรียนพระดาบสมี 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพระดาบส อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา ที่ต่อยอดจากโรงเรียนพระดาบสในส่วนกลาง สู่พื้นที่ห่างไกลและเปราะบาง โดยเปิดรับนักเรียน จาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล  และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี)

- ชลิต อินดัสทรี สานต่อก่ออาชีพช่าง ปี 4  เพื่อโรงเรียนพระดาบส

เพื่อร่วมส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างวิชาชีพให้แก่เยาวชนไทย บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้  แบรนด์ “POP” เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเยาวชนคุณภาพจากรากฐานที่มั่นคง บริษัทฯได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเรียนรู้อาชีพของนักเรียนโรงเรียนพระดาบส ภายใต้โครงการ “ชลิต อินดัสทรี สานต่อก่ออาชีพช่าง ปี 4” ร่วมสนับสนุนเสริมสร้างอาชีพให้กับน้องๆโรงเรียนพระดาบส ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยเมื่อเร็วๆ นี้  นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ได้มอบเงินสมทบทุนการศึกษาเพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนพระดาบส และโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิพระดาบส โดยมี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข  กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส เป็นผู้รับมอบ  

และในโอกาสนี้ นายชวิศ ยงเห็นเจริญ พร้อมด้วย นางมนัสนันท์ เปรมพุฒิพันธ์ กรรมการบริษัทฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมี พลอากาศโท ศ.นพพล  หาญกล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส ร่วมด้วย นายอัครเดช ชูจิตต์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ, นาวาอากาศเอก ปภัณศัก  สายแจ้ง  รองหัวหน้า สำนักงานมูลนิธิพระดาบส และ นายวิทูล สายแก้ว หัวหน้าหลักสูตรช่างยนต์ โรงเรียนพระดาบส พาเยี่ยมชมการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติวิชาชีพของศิษย์พระดาบส

วีรศักดิ์ บินหามะ

- เน้นการลงมือทำ ตอบโจทย์ “ชีวิตจริง” มีอาชีพ เลี้ยงตนได้ 

พลอากาศโท ศ.นพพล หาญกล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส  เปิดเผยว่า โรงเรียนพระดาบส จัดการเรียนการสอนวิชาชีพระดับ “ประกาศนียบัตรพระดาบส” ในรูปแบบโรงเรียนประจำหลักสูตร 1 ปี (เริ่มเดือนเมษายน) ไม่เสียค่าเล่าเรียน มีที่พักและอาหารให้ การศึกษาในโรงเรียนพระดาบสแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป โดยเน้นการลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎี เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม นอกจากความรู้เชิงวิชาชีพแล้ว ศิษย์พระดาบสยังได้รับการฝึกอบรมในด้านคุณธรรม จริยธรรม วินัย และความรับผิดชอบ ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันภายในโรงเรียนอย่างมีระบบ เช่น การตื่นเช้า ทำกิจวัตรร่วมกัน  เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีระเบียบวินัย การช่วยเหลืองานส่วนรวม ตลอดจนการพัฒนาทัศนคติในเชิงบวกเพื่อการทำงานในอนาคต

โรงเรียนพระดาบสเปิดสอนหลากหลายสาขาอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ประกอบด้วยหลักสูตรช่าง 7 หลักสูตรสำหรับศิษย์พระดาบส (ชาย) ได้แก่ 1. หลักสูตรวิชาชีพช่างยนต์ 2. หลักสูตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า 3. หลักสูตรวิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ 4. หลักสูตรวิชาชีพช่างซ่อมบำรุง 5. หลักสูตรวิชาชีพการเกษตรพอเพียง 6. หลักสูตรวิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน และ 7. หลักสูตรวิชาชีพช่างเชื่อม ส่วนศิษย์พระดาบส (หญิง) เปิดสอนหลักสูตรเคหบริบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และงานดูแลสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังมีโครงการเสริมอาชีพ โดยโรงเรียนพระดาบสได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เปิดหลักสูตรระยะสั้นแก่บุคคลทั่วไป ได้แก่ "การนวดเพื่อสุขภาพ" และ "หลักสูตรต่อยอดผู้ช่วยแพทย์แผนไทย"

ปัจจุบันมีผู้เรียนจบหลักสูตร “ประกาศนียบัตรพระดาบส” แล้ว 47 รุ่น สำหรับศิษย์พระดาบส ประจำปีการศึกษา 2568 เป็นรุ่นที่ 48 โรงเรียนพระดาบส อ.เภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนทั้งสิ้น 116 คน และ โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 100 คน

วาสนา

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร

- ชายหรือหญิง อายุ 18–35 ปี (สำหรับโรงเรียน อ.บางพลี) และ 18–25 ปี (สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้)

- ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการศึกษา

- วุฒิไม่เกิน ม.6 (ไม่รับผู้จบ ปวส. อนุปริญญา หรือปริญญาตรี)

- อ่านเขียนภาษาไทยและคำนวณพื้นฐานได้

- ตั้งใจศึกษา มีวินัย พร้อมอยู่ประจำ

- ไม่มีภาระผูกพันหรือคดีความ ไม่เป็นโรคร้ายแรง

- โรงเรียนพระดาบส จับมือกับ สอศ. เพิ่มโอกาสทางการศึกษา

โรงเรียนพระดาบส ยังร่วมกับวิทยาลัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  จัดการศึกษาให้แก่ศิษย์พระดาบสที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  6  ให้เข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระบบทวิภาคี โดยการเทียบโอนผลการศึกษาที่เรียนในโรงเรียนพระดาบส 1 ปี และเทียบโอนประสบการณ์ในสถานประกอบการ 1 ปี  เพื่อส่งเสริมให้ศิษย์พระดาบสได้พัฒนาตนเอง และมีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นอีกด้วย  

อมรรัตน์ บุญหลำ

นอกจากนี้ โรงเรียนพระดาบส ยังให้ความร่วมมือกับสอศ. ในโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพระดาบสเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท ที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือว่างงาน เข้ารับการศึกษาด้านอาชีพ โดยปัจจุบันได้ขยายผลโครงการฯ จากสถานศึกษานำร่อง จำนวน 12 แห่ง เป็นจำนวน 30 แห่ง  อาทิ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี วิทยาลัยการอาชีสศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี วิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร  เป็นต้น

ศิษย์พระดาบส รุ่นที่ 48  : เสียงจริงจากผู้ได้รับโอกาส

หรั่ง - นายวีรศักดิ์ บินหามะ อายุ 29 ปี จังหวัดนราธิวาส กล่าวด้วยความปลื้มใจว่า "เหตุผลที่อยากมาเรียนที่นี่ เพื่อนำเอาความรู้ไปประกอบชีพต่อไป รู้สึกดีใจมากที่ได้รับโอกาสมาเรียนวิชาชีพที่โรงเรียนพระดาบส จะตั้งใจเพื่อใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพในอนาคตครับ"

ส่วน โพ-นางสาววาสนา อายุ 18 ปี ชาวกะเหรี่ยง  อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า "ตนเป็นชาวกะเหรี่ยง เรียนจบ ม.3 ตนอยากเรียนต่อและอยากมีงานทำ แต่มีปัญหาเรื่องเงินทุนการศึกษา รู้สึกดีใจมากๆที่ได้รับโอกาสดีๆ จากโรงเรีนพระดาบส ได้มาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เข้าใจและพร้อมทำงานจริงในอนาคตค่ะ"

ปิดท้ายที่ ฟิว-นายอมรรัตน์ บุญหลำ จบ. 3  จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า "ผมเป็นลูกกำพร้าพ่อ เนื่องจากคุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทำให้ไม่มีทุนเรียนต่อ ผมดีใจมากที่ได้รับโอกาสจากโรงเรียนพระดาบส คุณพ่อเคยเป็นช่างเชื่อม   ผมอยากช่วยสานฝันการเป็นช่างเหมือนพ่อ เรียนสายช่างเชื่อม ผมจะตั้งใจเรียน ผมมีความสุขกับที่นี่มากๆครับ ทั้งสนุก ได้กินอิ่ม นอนหลับ ก็มีความสุขมากแล้วครับ"

หลักสูตรของโรงเรียนพระดาบสไม่ใช่เพียงการ "สอนให้ทำงาน" แต่คือการ "สร้างคนให้มีคุณภาพ" มีความรู้ มีคุณธรรม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบอาชีพให้กับเยาวชนคือการสร้างพลังแห่งการให้ที่ยั่งยืน ผู้สนใจร่วมสนับสนุนด้านการศึกษา หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อมูลนิธิพระดาบส โทร. 02-282-7000 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.phradabos.or.th