ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
โดรนกลายเป็นอาวุธ สำคัญที่ทำให้รูปแบบสงครามเปลี่ยนไปอย่างมาก ในหลายพื้นที่โดรนกลายเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีการใช้โดรนอย่างหลากหลาย เช่น โดรนลาดตระเวน ตรวจการณ์โดรนโจมตีทางอากาศ ทำลายโครงสร้างสำคัญ เช่น สนามบิน หรือสถานีพลังงาน
ในตะวันออกกลาง โดรนถูกใช้ในสงครามอสมมาตร ด้วยกองกำลังติดอาวุธในแต่ละพื้นที่ และใช้หลากหลายแบบอเนกประสงค์ ขณะที่ฝ่ายปราบปรามก็ใช้การตรวจการณ์ทางอากาศด้วยโดรน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในการหาเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม นอกเหนือ จากการใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO)
ส่วนในแอฟริกา กลุ่มติดอาวุธและรัฐบาลใช้โดรนในการควบคุมพื้นที่
โดรนมีลักษณะเด่น คือ ต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องบิน หรือ ขีปนาวุธ แม้แต่ปืนใหญ่ที่ใช้ในการโจมตีหรือตอบโต้
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ำ โดยที่ไม่ต้องใช้บุคลากรเข้ามาในพื้นที่อันตราย เพื่อปฏิบัติภารกิจ ทั้งลาดตระเวน หรือโจมตี โดยที่โดรนสามารถกำหนดพื้นที่ที่ชัดเจนจนทำให้จำกัด ขอบเขตการโจมตี และลดความสูญเสียต่อพลเรือนที่สำคัญโดรนมีความยืดหยุ่นในภารกิจ คือ สามารถทำได้ทั้งการลาดตระเวณและการโจมตี
ด้วยต้นทุนต่ำทำให้โดรนเป็นอาวุธที่เป็น Cost Effective นั่นคือความคุ้มค่ากับการใช้งาน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าประเทศต่างๆจึงพยายามที่จะทำการวิจัยพัฒนาหรือทำนวตกรรมต่อยอด เพื่อพัฒนาโดรนที่หลากหลาย เช่น การใช้ฝูงโดรน (Swarm Drones) จำนวนมากที่ประสานงานโดย AI หรือการใช้ AI กับระบบอัตโนมัติที่ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยการสั่งการจากศูนย์ควบคุม
นอกไปจากนี้ยังมีการขยายพื้นที่การใช้โดรนที่นอกจากบนผืนดินแล้ว ยังมีโดรนใต้น้ำ โดรนในอวกาศ ซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายดาวเทียมของฝั่งตรงข้าม
อนึ่งโดรนใต้น้ำจะมีบทบาทต่อไปที่มาทดแทนการใช้เรือดำน้ำมากขึ้น เหมือนการใช้โดรนเข้ามาปิดช่องว่างการใช้เครื่องบินรบ
ในปัจจุบันมีการผสมผสานการใช้โดรนร่วมกับอาวุธดั้งเดิม และระบบไซเบอร์
ดังนั้นการปฏิบัติภารกิจภาคพื้นดินของทหาร จึงต้องปรับเปลี่ยนไป กล่าวคือ การกระจายตัวของกำลังทหารเพื่อลดทอนการเข้าทำลายของโดรน หากรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่การพัฒนาโดรนก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยน โดยการใช้โดรนขนาดเล็กจำนวนมาก เพื่อโจมตีกองทหาร ในขณะที่โดรนอาจเข้ามาแทนที่การปฏิบัติการของรถถัง เช่น โดรนรถถัง หรือ โดรนอากาศทำลายรถถัง แทนเฮลิคอปเตอร์พิฆาตรถถัง
อนึ่งการใช้การผสมผสานระหว่างโดรน ระบบเรดาร์ และดาวเทียม จะทำให้การสู้รบได้ระยะไกลโดยที่ไม่ต้องเห็นตัว เช่น การยุทธทางอากาศระหว่าง อินเดียปากีสถาน ที่เครื่องบินรบ ราเฟลของอินเดีย ถูกเครื่องบินรบ J-10c ของปากีสถานยิงตก โดยไม่ต้องเห็นกันเลย
การที่โดรนมีต้นทุนต่ำ ทำให้ประเทศทุนน้อยให้ความสนใจอย่างยิ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่ามหาอำนาจจะไม่สนใจ ตรงข้ามกลับเพิ่มทุนพัฒนาโดรนยิ่งขึ้น
ล่าสุดจีนสร้างโดรนโจมตีขนาดยักษ์ชื่อจิ่วเทียนที่เสริมเขี้ยวเล็บด้วยการบรรทุกโดรนจิ๋วกว่าร้อยลำไปสนธิกับการโจมตีของยานแม่
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องมีการปรับยุทธวิธีในการทำลายระบบควบคุม สั่งการโดรนของฝ่ายตรงข้าม หรือการป้องกันการโจมตีของโดรน โดยเฉพาะการโจมตีขนาดเล็กจำนวนมาก ด้วยวัตถุประสงค์คือป้องกันการหาข่าวสาร หรือระบบป้องกันภัยทางอากาศ โครงสร้างสำคัญ เช่น สนามบิน แหล่งพลังงาน หรือสถานีเรดาร์ หรือระบบสื่อสาร
ทั้งนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบต่อต้านโดรน (Counter-UAS หรือ C-UAS) โดยพิจารณาได้ดังนี้
1.อาวุธเลเซอร์ ที่มีพลังงานสูงสามารถยิงทำลายโดรนขีปนาวุธ หรือเครื่องบินได้อย่างแม่นยำ โดยการสนับสนุนของเรดาร์ เช่น ระบบ HELWS หรือ MEHEL ซึ่งอาวุธชนิดนี้นับว่ามีต้นทุนต่อการยิงค่อนข้างต่ำ (Variable Cost) แต่ต้นทุนคงที่ในการจัดสร้าง ยังคงสูง และต้องอาศัยการ R&D ต้องลงทุนสูง และประสิทธิภาพลดลงในสภาพอากาศที่แย่ และใช้พลังงานมาก
2.อาวุธไมโครเวฟกำลังสูง (HPM) ทำให้ส่งคลื่นแม่เหล็กพลังงานสูง เพื่อรบกวนหรือทำลายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของโดรน ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถทำลายฝูงโดรนได้ด้วยการยิงคลื่นแบบกระจายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ระบบ PHASER ของ RAYTHEON ข้อดีคือระบบนี้จะมีต้นทุนต่อการใช้ (VC)ต่ำมาก และต้นทุนคงที่ในการจัดสร้างก็ต่ำกว่าระบบเลเซอร์ ส่วนการใช้เทคโนโลยีก็ไม่ซับซ้อนเท่าเลเซอร์
อนึ่งระบบเลเซอร์และไมโครเวฟเป็นระบบที่ใช้พลังงาน
ส่วนระบบที่ไม่ใช้พลังงาน คือ ระบบแบบรบกวนสัญญาณ และโจมตีทางไซเบอร์ เช่น เครื่องรบกวนสัญญาณ เพื่อตัดการเชื่อมต่อระหว่างโดรนกับผู้ควบคุม หรือรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งเครื่องมือรบกวนสัญญาณนี้มีทั้งระบบพกพา ที่สามารถนำไปใช้ในสนามรบได้ หรือแบบติดตั้งบนยานพาหนะ และแบบติดตั้งประจำที่ ตัวอย่างเช่น Droneshield หรือ AUDS (ANTI-UAV Defence System)
นอกจากนี้ยังมีการใช้สงครามไซเบอร์ด้วยการแฮกและการยึดการควบคุม โดยบางระบบสามารถบังคับให้โดรนลงจอดหรือกลับไปยังจุดเริ่มต้นได้
อย่างไรก็ตามต้องอาศัยยอดฝีมือทางการสงครามไซเบอร์ เช่น แฮกเกอร์ชั้นยอด
ประเด็นสุดท้ายคือการปรับปรุงระบบอาวุธดั้งเดิมที่ใช้จลศาสาตร์ (Kinetic Weapons) เช่น การปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศ ที่สามารถตรวจจับและโจมตีเป้าหมายขนาดเล็กได้ ในลักษณะเจาะจงหรือเป็นกลุ่มแบบปืนดาวกระจาย
ขอยกตัวอย่างการปรับปรุง Iron Dome หรือระบบ C-RAM เช่นสหรัฐฯกำลังจัดสร้างGolden Dome
อนึ่งยังมีอีกหลายวิธีในการต่อต้านโดรน เช่น การใช้โดรนล่าโดรน หรือตาข่ายดังจับ เช่น Intercepter Drone ระบบ Skywall ของ Open works Engineering แม้แต่การพัฒนาปืนกลหรือปืนใหญ่ ที่ยิงได้แบบดาวกระจาย โดยทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ หรือ AI หรือการพัฒนาระบบเรดาร์กับเครื่องตรวจจับความร้อน โดยทำเป็นระบบเซนเซอร์ แบบผสมผสาน รวมทั้งการพัฒนาระบบป้องกันหลายชั้น อย่างที่อิสราเอลหรืออิหร่านทำอยู่
ประเทศไทยโดยเฉพาะกองทัพไทยคงมีการตื่นตัวในเรื่องนี้เพียงแต่ว่าจะทุ่มเทเพียงพอหรือไม่ กับการปรับมุมมองที่จะพึ่งพาอาวุธดั้งเดิมที่มีราคาแพง