วันที่ 22 พ.ค.2568 ที่รัฐสภา นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. พร้อมด้วย น.ส.มณีรัฐ เขมะวงศ์ สว. แถลงข่าวถึงการยื่นญัตติด่วนชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.),กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด และการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญจะประชุมในวันที่ 29–30 พ.ค.นี้ ชะลอไปจนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้ว สว.ที่มี สว.ถูกร้องจำนวนมาก จึงหวังว่าประธานวุฒิสภาจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม

โดยนายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า ผู้ถูกร้องยังถือว่าสถานะบริสุทธิ์อยู่โดยเฉพาะ สว. ส่วนใหญ่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน กระบวนการก็ต้องมีความเป็นธรรม ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมอภิปรายในกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาตรวจสอบ ขบวนการได้มาซึ่ง สว. และเห็นว่ามีข้อกังวลพอสมควร เนื่องจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ได้ออกแบบกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ แปลว่าเรามีหลักมูลหลักฐานว่า ต้องใช้องค์กรอิสระที่ไม่อยู่ฝั่งฝ่ายใด เป็นตัวกลางในการจัดการเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมาประชาชนจะมีข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุยกเว้นให้ใช้องค์กรอื่นมามีบทบาทนำในการตรวจสอบ แต่หากเป็นบทบาทเสริมก็สามารถทำได้ ดังนั้นสว.ส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทนี้ จึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. แต่ในขณะเดียวกัน แม้ สว.จะยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นผู้ตัดสินบุคคลที่จะเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ถือเป็นคู่กรณี

“เมื่อเป็นคู่กรณีกันแล้ว จึงคิดว่าเบื้องต้น ควรต้องชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรเหล่านั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นธรรมและอิสระ ดังที่สว. กลุ่มนั้นได้เรียกร้องให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงหลักการไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ด่านแรกคือประธานวุฒิสภาเอง หวังว่าท่านจะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่ระเบียบวาระ และหวังว่า สว. ท่านอื่นที่มีประเด็นอยู่ ย่อมจะไม่ใช้อำนาจในช่วงเวลานี้ เพื่อทดสอบความเป็นธรรมในจิตใจของตนเอง” นายเทวฤทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่ากรณี น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.เตรียมรวมรายชื่อ สว. 20 คน ส่งประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ สว. ที่ถูกข้อกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้น นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ เพราะต้องรวมรายชื่อให้ครบ ส่วนตัวเห็นว่า จริงอยู่ว่ามาตรา 82 อาจให้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการยับยั้งหรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีการสอบสวน แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สมดุลกับระบอบประชาธิปไตย เพราะควรจะเป็นเพียงแค่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ควรจะมีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 11 ปีของการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเริ่มมีกระแสดังแว่วขึ้นมา ด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สีแดง และสีน้ำเงิน ทำให้ประชาชนอาจตั้งคำถามกับทางฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ สว. เอง ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ช่องทางอื่น หรือใช้บริการอื่น เช่น การเกิดกระแสคิดถึงลุงตู่ ซึ่งต้องระมัดระวังว่า สิ่งที่ลุงตู่ทำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คำสั่งคสช. หรือการออกแบบรัฐธรรมนูญ ก็ยังผลมาสู่ปัญหาของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบันนี้

“อย่าไปถวิลหากับระบบอื่น ค่อยๆ ตรวจสอบ และแก้ไขกันไป ที่สำคัญปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ เราก็ไม่สามารถคลี่คลายประเด็นปัญหานี้ได้” นายเทวฤทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าสว. ซึ่งถูกข้อกล่าวหาได้ร้องให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนชุดที่ 26 ซึ่งเปิดหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ใส่ซองทึบนั้น นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า โจทย์สำคัญคือผู้ร้ายคนแรกที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ คือ กกต. เพราะใช้เวลานานมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้ความชอบธรรมกับ การใช้สังคมภายนอกเข้ามากดดันกระบวนการตรวจสอบ เมื่อครั้งตนเองโดนตรวจสอบ โดยคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนฯ ก็ใช้วิธีส่งเป็นจดหมาย

“สำหรับ 55 สว.ที่ถูกหมายเรียก ผมเห็นว่ามีความไม่เป็นธรรม และไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เขาเองก็มีสิทธิ์จะร้องเรียน และมีสิทธิ์สงสัยในกระบวนการตรวจสอบที่อาจไม่โปร่งใส เป็นธรรมเช่นเดียวกัน เพราะมีการไปปิดหมายเรียก และถ่ายรูปไว้ เสมือนเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว ก็คิดว่าไม่เป็นธรรม และ สว. กลุ่มนั้นมีสิทธิ์ที่จะร้องให้ตรวจสอบกระบวนการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯด้วย”นายเทวฤทธิ์ กล่าวและว่า หากประธานวุฒิสภาไม่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตนเองก็จะเสนอเป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้วุฒิสภาชะลอการดำเนินการ โดยมั่นใจว่า จะไม่กระทบกับกรอบเวลาการให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม รวมถึงยังไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระ เพราะตามกฎหมายยังสามารถให้รักษาการณ์ได้ แต่การเร่งให้ความเห็นชอบ จะเกิดผลกระทบร้ายแรงมากกว่า