วันที่ 22 พ.ค.2568 ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯ แถลงผลการประชุมพิจารณาเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงยุทธศาสตร์ภาครัฐและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาเข้าร่วมประชุม แต่ติดภารกิจ จึงส่งนายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าชี้แจงแทน
โดยนายรอมฎอน กล่าวว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ความรุนแรงปรากฏความรู้สึกใกล้เคียงกับ 10 ปีแรกที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงกระทำต่อพลเรือนและผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง มีเด็ก เยาวชนตกบุคคลในสมณเพศ ครูสอนภาษาตกเป็นเป้า จึงเป็นภาวะตึงเครียดและเกิดความบาดหมางระหว่างชุมชนตามมา จากการช่วยกันประเมินสถานการณ์ ผู้ชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่า ความรุนแรงน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีเพียงสำนักข่าวกรองแห่งชาติที่ประเมินว่าแม้ผลกระทบความรุนแรงจะมีแนวโน้มที่บานปลาย แต่เห็นว่าความรุนแรงน่าจะลดลง ผลมาจากการสูญเสียความชอบธรรมของขบวนการต่อสู้ BRN เพิ่มมากขึ้น จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกประณาม หรือเรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังกับพลเรือน
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ตนเองได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ฉบับใหม่ของรัฐบาล เนื่องจากนายภูมิธรรมได้มีข้อสั่งการเมื่อต้นเดือน ม.ค.68 ให้ทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยกร่างยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ฉบับใหม่ ผ่านมาแล้ว 5 เดือน จึงต้องทวงถามนายฉัตรชัย ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งชี้แจงว่ายุทธศาสตร์ฉบับใหม่ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติ เนื่องจากต้องเสนอเข้าที่ประชุม สมช.และบางประเด็นต้องนำเข้าสู่ ครม.ส่วนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ฉบับใหม่ จะเน้นเรื่องการยุติความรุนแรงที่กระทบกับประชาชนเฉพาะหน้า แลัการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันจะเปิดช่องทางให้ผู้ที่เห็นต่างกลับคืนสู่สังคม นายฉัตรชัย ย้ำว่าไม่ใช่แนวทางเดียวกับคำสั่ง 66/23 แต่เป็นการปรับแนวคิดเพื่อให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน
นายรอมฎอน กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้รายละเอียดจะมีแค่นี้ แต่ไม่ใช่สิ่งใหม่ โดยเฉพาะจุดเน้นเรื่องการพูดคุยสันติสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ารัฐบาลจะเดินหน้าพูดคุยสันติสุขต่อ แต่ภายใต้เงื่อนไขคือ การขอให้ BRN ยุติความรุนแรงต่อพลเรือนเสียก่อน โดยการพูดคุยสันติสุขวางไว้ในวัตถุประสงค์เรื่องการบริหารและพัฒนาชายแดนใต้ จะต้องมีการดำรงความต่อเนื่อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย บังคับใช้กฎหมายลดละเลิกใช้กำลังกับพลเรือน ขณะเดียวกันความพยายามที่จะศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้การแบ่งแยกดินแดน รวมถึงศึกษาบทเรียนความรุนแรงในอดีต ปัจจุบันรัฐบาลไทยโดย สมช.จัดให้มีการพูดคุยก่อนที่จะมีกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ โดยติดต่อผ่านมาเลเซียเพื่อพูดคุยกับผู้ที่มีอำนาจทางการตัดสินใจ แต่ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่มีการพบปะพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามในที่ประชุมมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชัดเจนนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลไทยด้วย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการเปิดช่องในการพูดคุยเพื่อสันติภาพหลังจากนี้
“ที่ประชุมมีข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น อนาคตของจังหวัดชายแดนใต้ ท้ายที่สุดจะต้องมีทางเลือกทางการเมืองที่เหมาะสมที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นทางเลือกการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นด้วย ดังนั้นคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อพบปะพูดคุยกับตัวแสดงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน ส่วนข้อเสนอที่ได้มีการพูดคุยในวันนี้จะมีการรวบรวมและส่งเรื่องไปให้รัฐบาลได้พิจารณาต่อไป”นายรอมฎอน กล่าว