วันที่ 22 พ.ค.2568 เวลา 14.00 น.ผศ.ดร.กานต์สิรี จินดาปัณณาพัฒน์ สาขาโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า การทำวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ได้สำเร็จที่แรกของไทย ซึ่งการที่ไส้เดือนฝอยเข้ามาโจมตีรากของพืชผลจะส่งผลให้รากเกิดเป็นปมจนไม่สามารถดูดซึมน้ำและสารอาหารได้อย่างเต็มที่จนทำให้ใบเหลืองและต้นแคระแกร็น ส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง กระทบรายได้เกษตรกรเป็นห่วงโซ่
ในปัจจุบันไส้เดือนฝอยรากปมที่ระบาดหนักต่อเนื่อง คือกลุ่ม Meloidogyne enterolobii ซึ่งเป็นชนิดที่แพร่ระบาดได้ทั้งพื้นที่เขตร้อนและเขตกึ่งร้อนเบื้องต้น พบทั้งในพริก มะเขือเทศ หัวหอม ไปจนถึงไม้ยืนต้น เช่น ฝรั่ง หม่อน และ พริกไทย โดยพบการรายงานปัญหาในหลายพื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานี ศรีสะเกษ รวมถึงขอนแก่นด้วยเช่นกัน ทำให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยแต่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เพราะไส้เดือนฝอยเป็นศัตรูพืชที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรทำให้เกิดโรครากปมและกำลังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ ปัจจุบันมีการแก้ปัญหาด้วยสารเคมีนั้นพบว่ากลุ่มของยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ แต่จะดีไหมถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอินทรีย์และปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมาใช้แก้ปัญหานี้แทน
โดย ผศ.ดร.กานต์สิรี กล่าวต่ออีกว่า ทีมวิจัยภายใต้ทุน สวก.จึงได้นำ หญ้าแฝกหญ้าอนุรักษ์ดินและน้ำในโครงการพระราชดำริ มาศึกษาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการศึกษาสารสำคัญอย่าง Phenolic Content ในใบหญ้าแฝกเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนจะนำมาทดลองกับไส้เดือนฝอยซึ่งศึกษาร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ มาแล้วก็นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ขณะที่ รศ.ดร. ดวงกมล ศักดิ์เลิศสกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า เฟสแรกทีมวิจัยได้มีการนำใบหญ้าแฝกไปต้มเพื่อนำน้ำมาฉีดพ่นให้กับพืชผลเลย แต่พบจุดอ่อนว่า ต้องใช้หญ้าแฝกและน้ำในปริมาณมาก รวมทั้งมีอุปสรรคด้านการเก็บรักษา จึงได้มีการพัฒนา ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม สูตรที่ 1 ขึ้น โดยควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่นำใบหญ้าแฝกมาต้ม ก่อนจะระเหยน้ำออก และนำเข้าสู่เครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอย (Spray dryer) จนนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผงละลายน้ำที่เกษตรกรสามารถใช้งานได้เอง เพียงแค่ใช้ผลิตภัณฑ์ 1 ซอง (50 กรัม) ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นโคนต้นพริกที่มีอายุมากกว่า 1 เดือนได้ถึง 200 ต้น โดยสามารถฉีดรอบรากได้ทุก 3 สัปดาห์ เพื่อกำจัดและป้องกันไส้เดือนฝอยรากปม
“งานวิจัยของเราทดสอบทั้งในระบบปฏิบัติการ ต่อด้วย Green House และลงแปลงเกษตรกรจริงที่ตำบลซำสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกพริกของขอนแก่น โดยทดสอบกับพื้นที่ 3 แปลงในต่างหมู่บ้าน เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในดินที่แตกต่างกัน ซึ่งฟีดแบ็กจากเกษตรกรเป็นไปในทิศทางที่ดี มีผลิตผลเพิ่มมากขึ้น”รศ.ดร. ดวงกมล กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร. ดวงกมล กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยได้พัฒนา ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม สูตรที่ 2 สูตรรองก้นหลุม ชนิดผงปลดปล่อยสารช้า (Slow Release Product) โดยสามารถใช้งาน 1 ซอง (2 กรัม) ใช้รองก้นหลุมพร้อมปลูกสำหรับต้นพริก 2 ต้น หรือ 1 ช้อนชาต่อหลุมปลูก เพื่อควบคุมและป้องกันการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยรากปมได้ประมาณ 1 เดือนหลังการย้ายปลูก ซึ่งสำหรับสูตรที่ 2 นี้ จะช่วยยืดระยะคลุมรากให้มากขึ้น ปริมาณการใช้ลดลง ลดความถี่ในการใช้งานผลิตภัณฑ์น้อยลงเฉลี่ย 30 วันจึงจะใช้ 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรลงไปได้ด้วย ทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพและได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร อย่างไรก็ตาม
สำหรับผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมจะมีการพัฒนาต่อยอดการใช้งานทั้งปริมาณและประสิทธิภาพในพืชผลอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะเมล่อนที่มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาแล้ว ขณะเดียวกันทางทีมวิจัยยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้เกษตรกรมีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ใช้ พืชผล และสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงได้ทั้งในด้านปริมาณและราคาต่อไปในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจใช้งานหรือร่วมพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.กานต์สิรี โทรศัพท์ 043-202-360 หรือ [email protected]