ในวันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2568 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการอุทธรณ์ ฎีกาคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง สำหรับเจ้าพนักงานเรือนจำ" โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายกฤตภพ จันทร์ภูโดม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครราชสีมา นางสาววริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย คณะผู้บัญชาการเรือนจำเขต 3 อาจารย์นาตาชา วศินดิลก ผลพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองกลาง เข้าร่วม ณ เรือนจำกลางนครราชสีมา และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Video Conference)
สำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ถือเป็นการนำบุคลากรระดับสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสุดท้าย ผู้มีบทบาททั้งในทางปฏิบัติและเชิงนโยบาย ในการดูแล กำกับ และยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการเรือนจำของประเทศให้ตั้งอยู่บนหลักแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักนิติธรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกระดับ โดยเฉพาะระดับผู้บริหารได้มีความเข้าใจในบทบาทของเรือนจำในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มิใช่เพียงสถานที่ควบคุมผู้ต้องขัง ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังรวม 290,184 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 76,096 ราย ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งหมายความว่า เกือบ 1 ใน 4 ของผู้ถูกควบคุมตัวยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และยังถือว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 29
ทั้งนี้ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และจะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี หากยึดหลักนี้อย่างจริงจัง หน่วยงานราชทัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมบุคคลในระหว่างพิจารณาคดี ต้องมีภารกิจสำคัญในการประกันว่า ผู้ต้องขังจะได้รับสิทธิต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งดีกว่า บุคคลที่อยู่ภายนอกเรือนจำ ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงทนายความ การเข้าใจขั้นตอนและระยะเวลาทางกฎหมาย และการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ ฎีกา อย่างถูกต้องและทันเวลา โดยเฉพาะในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งเป็นการพิจารณาบนพื้นฐานของ “ข้อกฎหมาย” มิใช่ “ข้อเท็จจริง” ผู้ต้องขังจำนวนมากจึงมักเสียเปรียบ หากไม่ได้รับการสนับสนุนหรือมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเพียงพอ
กระทรวงยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้อำนาจรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ มาตรา 31 ประกาศกระทรวงยุติธรรมเรื่อง การจำแนกประเภทหรือชั้นของเรือนจำ ข้อ 7 จัดให้มีเรือนจำสำหรับคุมขังผู้ต้องขัง และคนฝาก เพื่อจัดกลไกลที่สำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมผู้ต้องขังระหว่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องขังระหว่างทุกคน ซึ่งปัญหาความยุ่งยากในการจัดทำคำอุทธรณ์และฎีกา มักเกิดจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ได้แก่ 1) ความยุ่งยากในเชิงกฎหมาย : ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านกฎหมาย และประเด็นฎีกาที่ถูกจำกัด 2) ความยุ่งยากในเชิงกระบวนการ : ต้องขออนุญาตฎีกาในบางคดี ระยะเวลายื่นจำกัด และข้อจำกัดด้านข้อมูล 3) ความยุ่งยากเชิงโครงสร้างและบุคลากร : ภาระงานมาก และขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และ 4) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความยุติธรรม : ผู้ต้องขังไม่เข้าใจสิทธิของตน และการส่งข้อมูลจากเรือนจำล่าช้า
สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ฎีกา ทั้งในคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง รวมทั้งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการอธิบายสิทธิและขั้นตอนทางกฎหมายให้ผู้ต้องขังเข้าใจ และสร้างมาตรฐานการปฏิบัติที่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
#รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม #ประธานในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการอุทธรณ์ #ฎีกาคดีอาญา #คดีแพ่ง #คดีปกครอง #สำหรับเจ้าพนักงานเรือนจำ #เรือนจำกลางนครราชสีมา