รอง ผวจ.กาญจนบุรี เป็น ปธ.เปิดเวทีเสวนาการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนปัญหา และหารือร่วมกันในพื้นที่
วันที่ 21 พ.ค.68 นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดการเสวนาการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2564 - 2570 โดยมี นายชำนาญ แตงจุด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี พันตรีมนัส ทองโคตร กองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 17 นายวัลลภ เขียวผึ้ง ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์ที่ 8 และนายภานุวัฒน์ ศีลแดนจันทร์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนภาคประชาชน ร่วมการเสวนาการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2564 - 2570 พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังการเสวนาฯ ณ ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้งกองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เพื่ออำนวยการ ควบคุม สนับสนุน และประสานการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด และมาตรา 12 ประกอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2564 - 2570 บทที่ 3 หลักการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย 3.2 กลไกการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย 3.2.2 ระดับปฏิบัติ (3) กำหนดให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (กอปภ.จ.) และมีคำสั่งจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี (กอปภ.จ.กาญจนบุรี) โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ อำนวยการ ควบคุม สนับสนุน และประสานการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ จัดทำแผนปฏิบัติการตามความเสี่ยงภัยด้านต่าง ๆ ให้สอดรับกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมกำหนดแนวทาง การดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย การเตรียมพร้อมรับมือกับสาธารณภัยของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ รวมไปถึงการจัดตั้งทีมเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ สาธารณภัย และแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้นในการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ให้จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดขึ้น เพื่อควบคุม สั่งการ และบัญชาการในพื้นที่
โดยในการเสวนา มีการพูดคุยเรื่อง บทบาทหน้าที่ของผู้อำนวยการจังหวัด บทบาทของหน่วยงานทหารในการจัดการสาธารณภัย รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ ในการสร้างการรับรู้ รวมไปถึง แผนปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉิน VRK EAP 2568 กรณีเกิดแผ่นดินไหว การรองรับสถานการณ์ของเชื่อนวชิราลงกรณ พร้อมทั้งความคาดหวังต่อการบริหารจัดการสาธารณภัยของจังหวัด ในมุมมองของภาคประชาชน เพื่อที่จะได้รับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนปัญหา และหารือร่วมกันในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี