ประมงเชียงราย ยันปลาบริโภคได้ แม้ค่าตะกั่วสูงกว่ามาตรฐาน แนะนำให้บริโภคด้วยการทำให้สุกท่านั้น! ประเภทลวกจิ้มต้องเลิกทันที

วันที่ 21 พ.ค.2568 อาจารย์นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ออกเก็บตัวอย่างปลาในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะปลาแค้ ซึ่งเป็นปลาหนังมีคลีบ ซึ่งพบว่ามีปลาที่อาจารย์นิวัฒน์ จับได้ตลอดแนวชายแดนไทย-สปป.ลาว จะมีอาการติดเชื้อ โดยสังเกตุเห็นตุ่มพุพองได้อย่างชัดเจน ซึ่งครูตี๋ระบุว่า ในอดีตไม่เคยพบเห็นปลามีอาการดังกล่าวมาก่อนแต่พึ่งมาพบตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย มีความขุ่น โดยมี เหมืองทองคำและอาจจะมีแรร์เอิร์ธ อยู่บนต้นน้ำ จากนั้นค่าสารหนูในทั้ง 2 แม่น้ำ ก็มีค่าเกินมาตรฐาน ก่อนจะพบปลาในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงมีตุ่มพุพองดังกล่าว

นายนิวัฒน์ เปิดเผยว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ที่ได้เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 1-2 พ.ค.2568 ระบุว่ามีสารหนูเกินมาตรฐานบริเวณจุดก่อนแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขงและบริเวณสบกก  ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ส่วนแม่น้ำสาย ก็มีค่าสารหนูและโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน และแม่กรณ์ แม่ลาว แม่สรวย (น้ำสาขาแม่น้ำกก) คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งข้อมูลของหน่วยงานของรัฐได้แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงมีปัญหาจากสารพิษและการปนเปื้อนโลหะหนักจริงส่วนแม่น้ำสาขาไม่เป็นปัญหา ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบเร่งคือผลักดันให้เกิดการตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณพื้นที่ต้นน้ำข้ามพรมแดน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่จะสามารถยืนยันถึงต้นตอของปัญหา และเกิดแนวทางการแก้ไขกับประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทางด้านนายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีพบปลามีลักษณะผิดปกติพบทั้งในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงปากตรงปากแม่น้ำคำ มีลักษณะใกล้เคียงกันคือปลาจะมีตุ่มแดงบริเวณครีบ หางและหนวด จึงได้นำตัวอย่างปลาไปยังกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง เพื่อตรวจหาด้านปรสิตวิทยา แบคทีเรียวิทยา ไวรัสวิทยา และพยาธิวิทยา จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งผลออกมาแล้ว 1 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา พบปรสิตกลุ่มไดจีนและมีแบคทีเรียเข้ามาซ้ำเติมที่ตุ่มดังกล่าว ส่วนด้านไวรัสวิทยาและพยาธิวิทยาไม่พบ ด้านผลการวิเคราะห์ทางเคมีพบสารปรอทอยู่ภายในตัวปลา 0.14 ไมโครกรัมต่อ กก.ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไม่ให้เกิน 0.15 ไมโครกรัมต่อ กก. ไม่เจอแดดเมียม ขณะที่ตะกั่วมีอยู่เพียง 0.05 ไมโครกรัมต่อ กก. ส่วนการตรวจครั้งที่ 3 เพิ่งมีการเก็บตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค.และวันที่ 16 พ.ค.ต้องรอผลซึ่งคาดว่าจะออกมาในวันที่ 28 พ.ค.2568 นี้

"สาเหตุที่พบตุ่มและแผล ในปลาเกิดจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง น้ำมีความขุ่น ทำให้สัตว์เลี้ยงวัยอ่อนได้รับผลกระทบด้านการสังเคราะห์แสงเพราะลูกปลาวัยต้องอาศัยแพลงตอนพืชที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงในการมีชีวิตอยู่ หากยังไม่สามารถทำให้น้ำที่ขุ่นกลับมาใสอีกได้ก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในระยะยาวต่อไป โดยสังเกตุได้จาก ปัจจุบันที่มีปลาลดน้อยลง เพราะไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ตามปกติ  ทั้งนี้โดยทั่วไปปลาจะอพยพไปอยู่ในที่ที่มีน้ำใส ส่วนการบริโภคปลาที่จับได้โดยมองจากการตรวจหาปริสิตและแบตทีเรียนั้นพบว่ายังสามารถใช้ความร้อนก่อนบริโภคได้ แนะนำให้บริโภคด้วยการทำให้สุกแล้วเท่านั้น โดยประเภทลวกจิ้มต้องเลิกทันที.