สำรวจข้อมูลสถิติสภาวการณ์ทางวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่ผ่านมาเผยพบปัญหา 6 ด้านหลัก
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 ที่โรงละครแห่งชาติ นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมภายในศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวนมาก ตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจข้อมูลสถิติสภาวการณ์ทางวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนไทยในช่วงที่ผ่านมาพบปัญหาสำคัญ 6 ด้านหลัก ได้แก่ อันดับ 1 ปัญหาเยาวชนเสพยาติดมากถึง 2.7 ล้านคน อายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 3 แสนคนต้องเข้ารับการบำบัด ส่วนเยาวชนอายุ 11 ปีจำนวน 7 คนเริ่มเสพยาบ้า และอายุ 7 ปีส่งยาบ้า อันดับ 2 ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร จากสถิติพบว่า อายุต่ำกว่า 19 ปีลงมา ท้องถึงปีละ 1.5 แสนคน อันดับ 3 เด็กถูกละเมิดและกลั่นแกล้ง กระทำความรุนแรงโดยสื่อ อันดับ 4 การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่ที่รักลูกแบบไม่ถูกทาง อันดับ 5 การเสพสื่ออนาจารผ่านสื่อออนไลน์ และอันดับ 6 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดนักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านคน โดยอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถซื้อหาเครื่องดื่มได้เองถึงร้อยละ 98.7
นางฉวีรัตน์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเหล่านี้ถือเป็นอนาคตของชาติ ดังนั้น สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจึงเร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งยังประสานการทำงานร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นถึง การขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม พร้อมๆ กับการเสริมสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครอบครัว และสร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นสังคมสีขาว
ด้าน นางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร รองปลัด วธ. กล่าวว่า ทุกวันนี้สื่อดิจิทัลโซเชียลมีเดียมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน มีความน่าห่วง ทั้ง เร็ว ลวง และหลอน มีตัวอย่างสภาวการณ์ให้เห็นจากลูกบางคนขอเงินพ่อแม่ไปเติมเงินโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการเล่นเกมออนไลน์ สถิติแม่วัยใสเพิ่มขึ้นมาก เมื่อปี 2558 เด็กตั้งท้องอายุน้อยสุดอยู่ ม.4 แต่วันนี้ที่น่าตกใจ เด็กประถมมีเพศสัมพันธ์กันในห้องน้ำของโรงเรียน เด็กมหาวิทยาลัยที่อยู่ตามหอพักอยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา มีการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ ดังนั้นเราต้องตามโลกให้ทัน ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ โดยที่ผ่านมาบทบาทงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหลัก และต่อจากนี้ต้องจับมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สภาวัฒนธรรม เครือข่ายเยาวชนอาสาสมัคร เครือข่ายครอบครัวที่มีอยู่ ทั่วประเทศ เพื่อขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันสังคม
นางยุพา กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดจากโลกโซเซียลปัจจุบัน ทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถูกล่อลวง ใช้เวลาเข้าถึงสื่อมากเกินไป เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เล่นการพนันผ่านออนไลน์มากขึ้น จากข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชนร้อยละ 63.7 ชอบดูสื่อลามก ร้อยละ 15.7 เคยดาวน์โหลดภาพโป๊เปลือย ถูกล่อลวงกระทำชำเรามีแนวโน้มสูงขึ้น สถิติเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีทำคลอดสูงกว่า 108,427 คน กว่า 1 ใน 2 ของเด็กและเยาวชนในระดับอุดมศึกษายอมรับการอยู่ก่อนแต่ง ขณะที่ปัญหาการใช้ความรุนแรงยังเพิ่มสูงขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทำงานร่วมกับภาคีเครอข่ายที่ผ่านมา ถือว่าสามารถสร้างพื้นที่สื่อดีได้เพิ่มมากขึ้นทั้งลดปัญหาการนำศิลปะวัฒนธรรมไปใช้ในทางไม่เหมาะสม งานร่วมพลังกับเครือข่ายเยาวชนที่ทำให้การแต่งการของพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์มีความเหมาะสมมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเกิดอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วย เป็นต้นแบบของสังคม” นางยุพา รองปลัดวธ. กล่าว