กรมประมงร่วมสืบสานพระราชเสาวนีย์ เพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎร ทรัพยากรประมงอุดมสมบูรณ์จากผลผลิตทางการประมง...สู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรในอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 และได้มีพระราชเสาวนีย์สรุปความว่า...ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ...

และเมื่อปีพุทธศักราช 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านวนาสวรรค์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีพระราชกระแสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบริเวณพื้นที่รอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้พิจารณาช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรเพื่อให้มีรายได้เสริมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านตะแบงใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน 540 ไร่ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินกิจกรรมสำหรับเป็นจุดสาธิตและฝึกอบรมให้แก่ราษฎรนำไปเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้ โดยเน้นการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น โดยส่วนราชการมีหน้าที่ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตรวมทั้งให้บริการคำแนะนำและติดตามแก่ราษฎร สามารถให้บริการอย่างเต็มรูปแบบและเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ทั้งด้านวิชาการเกษตร ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านพัฒนาที่ดิน และด้านป่าไม้ ในส่วนของกรมประมงได้รับจัดสรรพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ เพื่อจัดสร้างศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาประจำหมู่บ้านขึ้นภายใต้โครงการประมงหมู่บ้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2535 ดำเนินกิจกรรมด้านประมง โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการประมงแก่ราษฎรในพื้นที่ 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมงได้เข้าร่วมสนองพระราชเสาวนีย์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โดยจัดตั้งงานพัฒนาการประมง เพื่อเป็นจุดสาธิตและส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรเลี้ยงปลา และฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์น้ำแก่ราษฎรและนักเรียน โดยดำเนินงานภายใต้โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับจากก่อตั้งศูนย์ฯ มาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2568 กรมประมงมีแผนดำเนินกิจกรรม ดังนี้

1. กิจกรรมผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 300,000 ตัวต่อปี สำหรับแจกให้ราษฎรนำไปเลี้ยงเพื่อบริโภค และเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากปลาที่ชาวบ้านสามารถจับมาบริโภคได้  สัตว์น้ำที่ผลิต เช่น ปลาตะเพียนขาว เป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำ

2. กิจกรรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการประมง จำนวน 164 รายต่อปี ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน โดยสนับสนุนพันธุ์ปลากินพืชให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงรายละ 2,000 ตัว เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ราษฎรสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวของตนเอง โดยผลการดำเนินงานปี 2567 ที่ผ่านมา เกษตรกรในโครงการฯ มีผลผลิตรวมจำนวนทั้งสิ้น 29,223 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 178 กิโลกรัมต่อราย คิดเป็นมูลค่า 8,900 บาทต่อราย

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากจะทำให้เกษตรกรเกิดทักษะการเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาแล้ว กรมประมงยังมีการสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น ปลาส้ม ปลาแดดเดียว เป็นต้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตที่สามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพได้ หากเกษตรกรสนใจก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ที่งานพัฒนาการประมง ศูนย์พัฒนา การเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร ประชาชน และผู้ที่สนใจได้มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป

นอกจากนี้ งานพัฒนาการประมง ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีกิจกรรมการดำเนินงานด้านอื่น ๆ อาทิเช่น การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโดยใช้ชุดเพาะฟักพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ (Mobile Hatchery) การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชน การติดตามผลการดำเนินงานของเกษตรกรและแหล่งน้ำ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
  

 “กว่า 30 ปีที่กรมประมงได้สนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การดำเนินงานของกรมประมงได้ส่งผลให้แหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรมีปลาบริโภคในครัวเรือนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งกรมประมงจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทรัพยากรประมงจะยังคงอุดมสมบูรณ์พร้อมเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้ราษฎรได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สมดังพระราชเสาวนีย์ที่ทรงห่วงใยราษฎร แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารสักเพียงใด พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ก็จะยังแผ่ไพศาล ไปถึงราษฎรของพระองค์อยู่เสมอ” อธิบดีกรมประมง กล่าว