ครม.เคาะตั้ง“ชูศักดิ์” นั่งรักษาการแทน“ทวี”คุม“ดีเอสไอ”ชั่วคราว ด้าน“ทวี” ลั่นไม่มีผลกระทบ พร้อมมั่นใจคนเข้ามาแทนทำงานได้ ส่วน “อนุทิน” ตัดพ้อ“ภูมิใจไทย”ถูกเจาะยาง หลัง “กกต.” จ่อเรียก “รมต.”ของพรรคชี้แจงปมฮั้วสว. ย้ำไม่เกี่ยวข้อง เชื่อเป็นเรื่องการเมืองปั้นระดับจุลภาคขยายมหภาค ไฟเขียวฟ้อง “กุสุมาลวตี” หลังทำพรรคเสียหายขณะ ที่“สมศักดิ์”ยังไม่ชัด ยับยั้งมติ“แพทยสภา”หรือไม่ ขอรอข้อมูลก่อนตัดสินใจ ยันต้องพิจารณาให้ดี ชี้เสี่ยง“ม.157”ขณะที่ “ชูศักดิ์” ระบุ ไม่เกี่ยว “รัฐบาลอิ๊งค์” ศาล ปค.เตรียมตัดสินคดี “ยิ่งลักษณ์” 22 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 20 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการแทนในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แทนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการดูแลดีเอสไอ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลังมีคำสั่งศาลให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ตนก็ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เมื่อถามว่า ตอนนี้รู้สึกสบายใจขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องคดี ฮั้วสว. พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ก็ทำให้ทุกคนสบายใจ เมื่อเราไม่เข้าไปยุ่ง เพราะทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่มีผลกระทบอะไร เพราะหน้าที่หลักของกระทรวงยุติธรรมคือ การปฏิบัติและบังคับตามกฎหมาย นโยบายที่รัฐบาลแถลงก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรมมาก ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้ยกระดับ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในด้านอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีปัญหาเรื่องการประสานงานหรือไม่หากมีคนใหม่เข้ามาดูแลแทนในส่วนของคดีนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่มีปัญหา และบรรยากาศของครม.ทุกฝ่ายก็ยังดีกัน ไม่มีการแบ่งฝ่ายว่าเป็นพรรคโน้นพรรคนี้
ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวสมาชิกพรรคภูมิใจไทยถูก กกต.ออกหมายเรียก ให้ชี้แจงคดีฮั้ว สว.ได้พูดคุยกับสมาชิกบ้างหรือไม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุย เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไร และทุกคนก็ให้สัมภาษณ์หมดแล้วว่าพร้อมให้การและชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ นายอนุทิน ถึงกับหัวเราะ ก่อนกล่าวต่อว่า ผู้สื่อข่าวก็คิดเองได้ ใครๆก็ประเมินถูก
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองจริงๆใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เชื่อมาตั้งนานแล้ว ใครๆก็เชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่เกี่ยว แต่หากคิดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ได้คิดในฐานะรัฐมนตรีหรือหัวหน้าพรรค แต่คิดในฐานะเป็นคอการเมือง
เมื่อถามว่าหากคิดว่าเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ต้องการอะไรจากพรรคภูมิใจไทย นายอนุทินระบุว่า ไม่เห็นต้องถามเลย เพราะคำตอบทุกคนก็รู้อยู่แล้ว หากต้องการอะไรจากพรรคภูมิใจไทยก็ไม่มี เพราะภูมิใจไทยไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องสว.
"สื่อมวลชนน่าจะอ่านประกาศที่ผมเคยสั่งห้ามสมาชิกพรรคภูมิใจไทยห้ามข้องเกี่ยวกับการเลือกสว. ที่ลงวันที่ไว้เมื่อ 30 เมษายน 2567 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง สว. 2 เดือน เหตุใดจึงไม่ตีแผ่หนังสือนี้อีกครั้งว่า ผมสั่งห้าม” นายอนุทินกล่าว ก่อนย้ำว่า “ขอให้สื่อช่วยนำหนังสือดังกล่าวมาลงซ้ำหน่อย แฟร์ๆกับผม ขณะที่เรื่องของคนอื่นนำมาพูด เกี่ยวกับพรรคผม และขออย่ามายัดเยียด เพราะตนต้องการออกห่าง ไม่ยุ่งเกี่ยวตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว อย่ามาคิดมโนอะไร แต่ถ้ากกต.สงสัยก็ถามตน และทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือดี”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงเจาะจงมาที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยเป็นหลัก นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แสดงว่าคงต้องมีดีอะไรบางอย่าง จึงมีคนพยายามเจาะยาง
เมื่อถามว่ากกต.ยังออกหมายเรียกใหม่ เรื่องอาจไม่จบ และอาจพาดพิงถึงรัฐมนตรีและสมาชิกคนอื่นของพรรคภูมิใจไทยอีก นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย
เมื่อถามถึงความคืบหน้า กรณีนางสุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ พรรคภูมิใจไทย เตรียมยื่นฟ้อง น.ส.กุสุมาลวตี ศิริโกมุท สว.สำรอง และอดีตสส.เพื่อไทย พาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการฮั้ว สว. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนใดว่า เวลาตนพบผู้สื่อข่าว จะถามเสมอว่า ตนบ่นให้ผู้สื่อข่าวฟังตลอดว่าขั้นตอนการเลือกสว.เป็นอย่างไร จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าเลือกเข้ามากันอย่างไร เพราะตนไม่เกี่ยว ไม่ได้สนใจ เลือกระดับอำเภอ จังหวัดประเทศ และไขว้ ไม่รู้สักอย่าง ซึ่งเมื่อตนไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้สนใจ แต่หากมีการพาดพิงสมาชิกในพรรคภูมิใจไทยก็จะมีการฟ้องร้อง ในความผิดตรงไหนหมิ่นประมาทก็ฟ้องร้องหมิ่นประมาทตรงไหนแจ้งความเท็จ ก็ฟ้องร้องแจ้งความ ตรงไหนละเมิดก็ฟ้องละเมิด เพราะเราเป็นพรรคการเมืองอยู่ดีๆจะให้คนอื่นมาด้อยค่าได้อย่างไร เพราะพรรคภูมิใจไทย มีคนเลือกเข้ามาได้สส. 70 กว่าคน มีคะแนนสส.บัญชีรายชื่อเป็นล้านเสียงคน จึงต้องรักษาคุณค่าของ ให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจเลือก
นายอนุทินกล่าวย้ำอีกว่า เมื่อกรรมาธิการเรียกนางสุขสำรวยไปชี้แจงก็ไป แต่คนที่กรรมาธิการไม่ได้เรียกแล้วไปก็เป็นเรื่องแปลก พร้อมย้ำว่าเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้วเพราะเริ่มตั้งแต่จุลภาคมาเป็น มหภาค
ส่วนในประเด็นดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้คุยนอกรอบกับนายกฯ และไม่เคยคุย เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยว ส่วนเมื่อวานก็เป็นงานเลี้ยงประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีก็ถ่ายวีดีโอตนร้องเพลง
ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมออนไลน์วิจารณ์ว่านายอนุทินไม่ได้ไปทำตา แต่ไปทำหน้าแทน นายอนุทินถึงกับหัวเราะก่อนกล่าวต่อว่า คงไม่ได้เครียด อโหสิกับคนคิดไม่ดี และขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ สัพเพ สัตตา อะเวรา
เมื่อถามว่าที่ไม่เครียดแสดงว่ามีแผนรับมือทางการเมืองใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด และมั่นใจว่าทีมงานของพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นดังข้อกล่าวหา และไม่เป็นไปตามบทวิเคราะห์ ของคอการเมืองและกูรู เพราะมันก็เหมือนดูก่อนบ่ายคลายเครียด กลายเป็นเรื่องตลกไปไม่ได้เป็นสาระ ก่อนกล่าวถึงท้ายว่าตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงเรื่องแก้ปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนเลย
ทางด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทยสภาส่งมติมาให้พิจารณาลงโทษแพทย์จำนวน 3 คน กรณีส่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่ตนตั้งขึ้น มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับตน ทั้งนี้ การพิจารณาแพทยสภาต้องผ่านคณะกรรมการ 4 ชุด เริ่มต้นคือ คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมชุดเฉพาะกิจ จะเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อคณะกรรมการ มีมติจะส่งให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ เมื่อทำงานจบแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรอง จากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการแพทยสภาที่มีคณะกรรมการทั้งหมด 70 คน เพื่อดำเนินการในการพิจารณาโทษ ซึ่งตนได้ข้อมูลจากคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด แต่ยังไม่ได้คำตอบ หากได้คำตอบมาแล้วจะมีการพูดคุยและประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้นตามมาตรา 25 วันนี้ตนยังไม่สามารถบอกข้อมูลได้ว่าจะยับยั้งหรือไม่ยับยั้ง เพราะข้อมูลยังไม่ครบ และยังมีเอกสารที่ต้องเอานำมาเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับที่เริ่มมาตั้งแต่เรื่องจริยธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลการรักษา ผลสอบของคณะกรรมการจะต้องออกมาจากแพทยสภาใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนดูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตนตามมาตรา 25 และจะรับฟังจากคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษฯ ที่ตั้งมาเป็นหลัก
เมื่อถามว่า อดีตแพทยสภาออกมาตั้งคำถามว่า หากมี พ.ร.บ.แพทยสภาฉบับใหม่ ควรจะให้อำนาจสภานายกพิเศษมีอำนาจในการยับยั้งมติแพทยสภาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “นั่นสิ กฎหมายเขียนไว้ทำไม ต้องเปลี่ยนสิ งั้นก็ต้องไปเปลี่ยนกฎหมายใหม่ เพราะผมทำตามกฎหมาย ถ้าผมไม่ทำตามกฎหมายก็จะมีความผิด เหมือนกับแพทยสภาถ้าไปพิจารณาแล้วทำให้ผู้ที่ถูกพิจารณาโทษรู้สึกว่าไม่ผิด เขาฟ้องร้อง มันจะเป็นปัญหา เหมือนผมไม่ดำเนินการ ไม่ทำอะไร ปล่อยไว้เฉยๆ ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ ถ้าคิดว่าสภานายกพิเศษไม่มีประโยชน์ กฎหมายก็ต้องเปลี่ยน แต่ตรงนี้ผมถูกบังคับด้วยกฎหมาย เลยต้องทำงาน”
เมื่อถามว่า กำหนด 15 วันที่สภานายกพิเศษจะต้องพิจารณามติแพทยสภา จะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าข้อมูลครบก็จะใช้เวลา 15 วันหลังจากได้รับหนังสือจากแพทยสภา ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลไปครั้งที่ 2 หากได้กลับมาข้อมูลก็ครบแล้ว ซึ่งจะพยายามไม่ขอขยายเวลา
เมื่อถามถึงกรณีแพทยสภาแนบเอกสารมาในรายงานว่า นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติ ตรงนี้จะมีการขอข้อมูลเพิ่มอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนตนเข้าใจว่า เขาได้มีการพิจารณาไปหมดแล้ว ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้พูดถึง และมีการเสนอความเห็นมายังสภานายกพิเศษ ทั้งนี้ สำหรับประมวลกฎหมายอาญา 157 เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด รวมถึงตน และคนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแต่ละชุด ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาให้ดีตามอำนาจหน้าที่ที่เรามี
เมื่อถามว่า ได้อ่านหนังสือของนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ร้องขอความเป็นธรรมหรือยัง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ดูแล้ว จึงตนได้ขอเอกสารจากแพทยสภาว่ามันตรงกับสิ่งที่เขาร้องเรียน ขอร้อง ขอความเป็นธรรมมาหรือไม่ เพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 157
เมื่อถามถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ระบุหากยับยั้งมติแพทยสภาโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ สภานายกพิเศษอาจโดนมาตรา 157 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนต้องถูกตรวจสอบโดยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการของแพทยสภาทุกชุด เราต้องระมัดระวังว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควร จะต้องดำเนินการไม่ให้ขัดกับมาตรา 157 เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนที่รัฐสภา นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ของวุฒิสภา กล่าวว่า ผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิ รับทราบเห็นชอบ กรณีที่กรรมาธิการสาธารณสุขจะร่วมกับกรรมาธิการการกฏหมายจะตั้งกรรมการร่วมกันพิจารณาเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ 2 เรื่อง คือ เรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหา ซึ่งแพทยสภาเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลจริยธรรมสูงสุดของวิชาชีพแพทย์ และในส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นในการพิจารณาเรื่องมติของแพทยสภาลงโทษแพทย์ที่รักษาตัวนายทักษิณ ชินวัตร ที่รักษาตัวในช่วงถูกคุมขังชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จะพิจารณาในมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวคงไม่ได้ จะต้องพิจารณามิติด้านกฎหมาย คาดว่าจะมีตั้งคณะอนุกรรมธิการ โดยจะส่งตัวแทนคณะละ 4 และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ทางด้านการแพทย์ หรือผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและสังคม สัดส่วนคนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมธิการ
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 12.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลปกครองนัดตัดสินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่เรียกชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จะมีผลต่อทิศทางการเมืองหรือไม่ ว่าคดีนั้นเป็นเรื่องอดีตที่ต่อสู้มายาวนาน หากตัดสินออกมาอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้
เมื่อถามว่าในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย คิดว่า คดีนี้จะส่งผลต่อทิศทางการเมืองไทยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ดำเนินการมานานแล้ว
เมื่อถามว่าหากคดีนี้ผลออกมาเป็นบวกกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้ จะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทยอย่างไร หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องทิศทางการเมืองมองได้หลายรูปแบบ หลายมุม ดังนั้นต้องเอาความคิดเห็นประชาชน และทัศนคติของผู้คนต่างๆมาประกอบ ตนขอย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้
เมื่อถามอีกว่า หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินเป็นคุณกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลต่อคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เคยตัดสินลงโทษมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และสามารถรื้อฟื้นคดีเก่าได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปว่ากันในรายละเอียดของคดี
เมื่อถามว่าคดีปกครองกับคดีอาญาใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “ครับ ต้องไปว่ากันในรายละเอียด เพราะเราไม่รู้ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร”