ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์ 2025 (พ.ศ. 2568)” ที่เพิ่งผ่านไป “รอบแรก” เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ก่อนเตรียมตัวเลือกตั้ง “รอบสอง” กันต่อไปในวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ หรืออีกเพียงสิบกว่าวันเท่านั้น
โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์หนนี้ ก็เป็นเพราะ “ประธานาธิบดีอันเดรจ ดูดา” กำลังจะหมดวาระในปีนี้ หลังดำรงตำแหน่งมาจนเต็มพิกัด 2 สมัย 10 ปีเต็ม นับตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) เป็นต้นมา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญโปแลนด์ กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปี และไม่เกิน 2 สมัย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงประธานาธิบดีดูดา ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปนั้น ก็มาจากผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระ คือ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด
อย่างไรก็ดี แม้ได้ชื่อว่า เป็นประธานาธิบดีอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ตัวเขาก็ค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับ “พรรคกฎหมายและความยุติธรรม” หรือพีไอเอส
ส่วนแนวนโยบายแม้จะค่อนข้างสนับสนุนยุโรป หรือโปรอียู เพราะเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภายุโรปมาหลายปี ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์ในเวลาต่อมา และต่อต้านรัสเซีย ซึ่งสะท้อนได้จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แก่ยูเครน ในการทำสงครามสู้รบต่อต้านรัสเซีย ทว่า เขาก็มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอยู่มิใช่น้อย จากการที่เขาเป็นคริสตศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิก ที่เคร่งศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า เขาต่อต้านพวกผู้มีรสนิยมหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีทีคิว ในหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ไม่อนุญาตให้คู่รักที่เป็นเกย์แต่งงาน หรือรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงห้ามการเรียน การสอน เนื้อหาเกี่ยวกับแอลจีบีทีคิวในโรงเรียน เป็นต้น
สำหรับ การเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์ 2025 ที่สัประยุทธ์กันไปอย่างฝุ่นตลบนั้น ก็มีผู้เข้าร่วมชิงชัย คือ สมัครรับเลือกตั้ง กันหลายคนด้วยกัน ได้แก่
“นายราฟาล ตรัสคอฟสกี” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งกรุงวอร์ซอว์ สังกัด “พรรคแพลตฟอร์มพลเมือง” หรือ “พีโอ” ซึ่งต้องถือว่า นายตรัสคอฟสกี ขยับขึ้นมาชิงชัยแข่งขันทางการเมืองในสนามที่ใหญ่กว่า คือ จากเฉพาะกรุงวอร์ซอว์ ที่เปรียบเสมือนเป็นสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มาสู่การชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นสังเวียนสู้ศึกเลือกตั้งระดับประเทศ ส่วนแนวนโยบายของพรรคก็จัดว่าเป็นแบบขวากลาง
“นายคารอล นาวรอซกี” แห่งพรรคกฎหมายและความยุติธรรม” หรือ “พีไอเอส” พรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายแบบขวา หรืออนุรักษ์นิยม ชาตินิยม นอกจากนี้ พรรคกฎหมายและความยุติธรรม ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีดูดา ที่กำลังจะหมดวาระไปอีกด้วย
ว่ากันคุณสมบัติส่วนตัวของนายนาวรอซกีนั้น ก็ถูกยกให้เป็นนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับโลกใต้ดิน
ทางด้าน สโลแกน หรือคำขวัญ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายนาวรอซกี ก็คือ “โปแลนด์ต้องมาก่อน”
เมื่อมีสโลแกน คำขวัญ กันเยี่ยงนี้ ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่า นายนาวรอซกี ให้ความนิยมชมชอบต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสโลแกน หรือคำขวัญในการรณรงค์หาเสียงว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” จนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 นี้
“นายสลาโวเมียร์ เมนต์เซน” หัวหน้าและผู้ก่อตั้งพรรคนิวโฮป หรือความหวังใหม่ ของโปแลนด์ โดยเขาเคยเป็นนักธุรกิจ ก่อนที่จะผันตัวเองเข้าสู่สมรภูมิการเมือง ด้วยการตั้งพรรคการเมืองข้างต้น โดยมีแนวนโยบายค่อนข้างขวาจัด
“นายเจกรอซ์ บรอน” โดยเขาอยู่กลุ่มพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า “สมาพันธ์มงกุฎโปแลนด์” ซึ่งมีแนวนโยบายขวาจัดอีกพรรคหนึ่ง
ผลการเลือกตั้งรอบแรก ปรากฏว่า นายตรัสคอฟสกี มีคะแนนนำหน้าเหนือลำดับที่ 2 แบบไม่ทิ้งห่าง โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ฉิวเฉียด ก็ว่าได้ ด้วยจำนวนคะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 31.4
ส่วนลำดับที่ 2 ได้แก่ นายนาวรอซกี ได้คะแนนเสียงไปคิดเป็นร้อยละ 29.5 ตามหลังอันดับ 1 คือ นายตรัสคอฟสกีเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น
ขณะที่ นายเมนต์เซน ได้อันดับที่ 3 และนายบรอน ได้อันดับ 4 ได้คะแนนเสียงกันไปเพียงร้อยละ 15.4 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ
เมื่อคะแนนเลือกตั้งรอบแรกปรากฏผลมาเยี่ยงนี้ ก็จะเหลือเพียงสองสมัคร อันดับ 1 และอันดับ 2 เท่านั้น ที่จะได้ชิงชัยในศึกเลือกตั้งรอบที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ได้แก่ นายตรัสคอฟสกี และนายนาวรอซกี
ทั้งนี้ เมื่อว่าถึงบรรยากาศการชิงชัยสู้ศึกเลือกตั้งของผู้สมัครฯ ทั้งสองคน ก็ต้องบอกว่า คู่คี่สูสี จะแพ้ชนะก็ไม่ทิ้งห่างกันสักเท่าไหร่ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ ต้องเฝ้าจับตา หรือลุ้นไปกับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพราะผู้สมัครฯ ทั้งสองคนนั้น ต่างก็มีแนวนโยบายที่แตกต่างกันออกไป
โดยนายตรัสคอฟสกี ก็จะฝักใฝ่ให้การสนับสนุนยืนข้างยุโรป หรืออียู
ขณะที่ นายนาวรอซกี ก็เป็นแบบฝ่ายขวา หรืออนุรักษ์นิยม ชาตินิยม
ทั้งสองคน ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ดำเนินมานานกว่า 3 ปี และส่งผลกระทบต่อภูมิภาคยุโรป ให้ต้องเฝ้าจับตา ทั้งในฐานะชาติผู้สนับสนุนต่อยูเครน ในการทำสงครามสู้ศึกกับรัสเซีย รวมถึงเป็นประเทศที่พรมแดนประชิดติดกับรัสเซีย และสมรภูมิรบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
แน่นอนว่า เมื่อนายตรัสคอฟสกี ซึ่งมีแนวนโยบายโปรยุโรป หากชนะเลือกตั้ง โปแลนด์ ก็ยังคงให้การสนับสนุนแก่ยูเครนต่อไป แต่ถ้าเป็นทางฝั่งนายนาวรอซกีมีชัยเลือกตั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อความช่วยเหลือจากโปแลนด์ที่มีจะมีต่อยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นผู้อพยพจากยูเครนเข้าไปในโปแลนด์ ซึ่งนายนาวรอซกี ออกอาการไม่ปลื้มสักเท่าไหร่