AOC 1441 เตือนภัย! แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเทรดหุ้น-หารายได้พิเศษ เสียหายกว่า 9 ล้านบาท
วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 4,000,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ แจ้งว่าได้ส่งจดหมายคุ้มครองประกันเงินฝากถึงผู้เสียหายแล้วไม่มีคนรับ จึงให้ผู้เสียหายติดต่อเจ้าหน้าที่ขนส่ง จากนั้นผู้เสียหายจึงติดต่อไปแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ภายหลังได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพอีกครั้งแจ้งว่าให้โอนเงินเพื่อดำเนินการคุ้มครองเงินฝาก โดยให้ทำตามขั้นตอนที่แจ้ง ซึ่งต้องโอนเงินหลายครั้งจนเป็นยอดเงินที่สูง จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 816,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาแจกต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีฟรีผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook มิจฉาชีพแจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้และชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ โดยให้โอนเงินเพื่อร่วมลงทุนหุ้นมะพร้าว ช่วงแรกได้เงินคืนกลับมาจริง ภายหลังโอนเงินเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,092,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น โดยโอนเงินให้มิจฉาชีพนำไปเทรดให้ เมื่อเทรดได้จะโอนเงินคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปช่วงแรกได้รับเงินคืน ภายหลังโอนเงินเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้รับเงินคืน มิจฉาชีพอ้างว่ายอดเงินยังไม่ถึงกำหนดถอนให้โอนเพิ่มอีกเรื่อยๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,317,747 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนซื้อหุ้นลงทุนบริษัท ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด จากนั้นจึงโอนเงินซื้อหุ้น มิจฉาชีพอ้างว่าจะได้รับเงินคืนเมื่อจบโครงการของบริษัท ต่อมาหลังจบโครงการยังไม่สามารถถอนเงินได้ อ้างว่าต้องเสียค่าภาษีและค่าดำเนินการ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไป ภายหลังโอนเงินมิจฉาชีพบ่ายเบี่ยง ไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 1,478,636 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาขายไอแพดผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดและตกลงราคากันผ่านทาง Messenger Facebook จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งให้ร่วมกิจกรรมโดยอ้างว่าหากไม่ร่วมจะไม่ได้รับสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม มิจฉาชีพอ้างให้โอนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 9,704,383 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,725,219 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,064 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 659,119 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,265 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 209,727 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.82 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 154,265 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.41 (3) หลอกลวงลงทุน 94,468 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.33 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 83,314 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 12.64 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 47,416 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.19 (และคดีอื่นๆ 69,929 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.61)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยใช้กลอุบายหลอกให้โอนเงินเพื่อคุ้มครองเงินฝาก ขณะเดียวกันมิจฉาชีพยังคงใช้วิธีการชักชวนให้ลงทุนเทรดหุ้น หรือลงทุนในลักษณะต่างๆ รวมทั้งลงทุนโพรโมตสินค้าบริการ ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 9 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com
#DE #ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม #กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม #AOC1441 #เตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์