ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 10 มกราคม 2569 เจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ต้องแจ้งต่อสำนักงานเขต ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติฯ ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 9 เมษายน 2569 โดยมีพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คอยควบคุมกรณีการเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเลี้ยงเพื่อจำหน่ายอย่างครอบคลุม
โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ต้องการให้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะหมาแมว ป้องกันปัญหาปล่อยเร่ร่อน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชาวบ้าน และลดปริมาณสัตว์จรจัด สามารถติดตามเจ้าของสัตว์ได้ ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้เลี้ยงดูแลสัตว์ของตนเองอย่างมีคุณภาพ มีการรักษาโรค ฉีดวัคซีน และดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดกลิ่นรบกวน มีสถานที่เลี้ยงอย่างเหมาะสมกับจำนวนที่เลี้ยง รวมถึงเมื่อสัตว์เสียชีวิตก็ดำเนินการอย่างเหมาะสม ไม่แพร่กระจายเชื้อโรค
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากผู้เลี้ยงไม่ไปแจ้งจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมไม่มีความผิด แต่หากเกิดการร้องเรียนหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญก็อาจถูกตรวจสอบใบอนุญาตย้อนหลัง และมีโทษเพิ่มมากขึ้น กรณีหมาแมวท้องอยู่ก็สามารถแจ้งได้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2569 จะไม่มีความผิดใด ๆ เพราะถือว่าแจ้งแล้ว แต่หลังจากนั้นต้องควบคุมการเลี้ยงไม่ให้เพิ่มจำนวนอีก เพราะต้องเลี้ยงตามจำนวนสัตว์ที่แจ้งไว้
ส่วนแนวทางการปรับไม่เกิน 25,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 29 หากบังเอิญเจ้าหน้าที่พบว่ามีการเลี้ยงจำนวนมากกว่าปกติ ก็สามารถตรวจสอบและดำเนินการได้ แต่โดยปกติเจ้าหน้าที่ไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อหาความผิดกับผู้เลี้ยง จะคำนึงถึงข้อร้องเรียนและการสร้างความเดือนร้อนเป็นหลัก เพราะเมื่อเกิดข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการ หากไม่ดำเนินการตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็มีความผิดกรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่เหมือนกัน ทั้งนี้ กรณีร้องเรียนต้องมีการตรวจสอบตามความเป็นจริง เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และเพื่อป้องกันการร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้ง
“ลูกสัตว์เลี้ยงที่เกิดหลังการจดแจ้ง หรือเกินจำนวนที่จดแจ้ง ผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ เพราะเกินจำนวนที่จดแจ้งไว้ เช่น ก่อนวันที่ 9 เมษายน 2569 หมาแมวกำลังตั้งท้องอยู่ผู้เลี้ยงสามารถจดแจ้งได้ไม่มีความผิด แต่เมื่อหมาแมวออกลูกมาแล้ว ลูกเหล่านั้นไม่สามารถท้องหรือเพิ่มจำนวนอีกได้ เพราะถือว่าเกินกว่าที่จดแจ้งไว้ ผิดกฎหมาย หากมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาผู้เลี้ยงต้องนำไปให้ผู้อื่นเลี้ยงหรือหาวิธีนำออกต่อไป หรือหากจะเลี้ยงไว้ ก็ต้องเลี้ยงให้ดี ไม่ให้เกิดการร้องเรียน เพราะหากมีการร้องเรียน หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย”
โดยสรุปคือ ผู้ที่เลี้ยงมาก่อนวันที่กฎหมายกำหนด จำนวนกี่ตัวก็ตาม ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่เอาผิดย้อนหลัง แต่ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียนตามกำหนด หลังจากแจ้งแล้ว ไม่สามารถเพิ่มจำนวนอีกได้ เพราะกฎหมายบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ไปจดแจ้งก็ต้องควบคุมดูแลการเลี้ยงให้ดี ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ เพราะหากถูกร้องเรียนจะมีโทษสูงกว่าปกติ ส่วนสัตว์เลี้ยงที่ออกลูกเกินจำนวนที่แจ้งไว้ต้องหาทางระบายออกหรือนำไปให้ผู้อื่นเลี้ยง แต่หากเลี้ยงต่อไปก็สามารถทำได้ แต่ต้องระวังเรื่องข้อร้องเรียน จึงสมควรที่จะทำหมันสัตว์เลี้ยงไม่ให้เพิ่มจำนวน ส่วนกรณีสัตว์เลี้ยงที่แจ้งไว้เสียชีวิตหรือหมดอายุไขทั้งหมดแล้ว ผู้เลี้ยงจึงจะนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาเลี้ยงได้ และจดทะเบียนเริ่มต้นใหม่โดยไม่ขยายจำนวนเหมือนเดิม
นางสาวชัญญา ผาสุพงษ์ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการหารือกับ กทม. ถึงข้อกังวลต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากประชาชน สามารถมั่นใจได้ว่า ต่อให้สัตว์เลี้ยงของคุณเกินจำนวนที่กำหนด แต่ถ้าคุณเลี้ยงดี คุณเลี้ยงก่อนอยู่แล้วคุณไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเอาสัตว์ไปปล่อยทิ้งที่ไหน คุณรักสัตว์ คุณเลี้ยงได้ต่อไปเลย โดยกฎหมายดังกล่าวคือการลงทะเบียนทำบัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อรับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ด็อกปาร์ค การฉีดวัคซีน การทำหมัน การฝังไมโครชิปเพื่อการติดตามหาเจ้าของสัตว์เลี้ยง เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เลี้ยงสัตว์ดูแลสัตว์อย่างมีคุณภาพถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะไปจับสัตว์เลี้ยงหรือเอาผิดผู้ที่เลี้ยงเกินกฎหมายกำหนดแต่อย่างใด เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดการเลี้ยงที่ดี มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่หากไม่มีการปรับปรุงก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย
สำหรับขนาดพื้นที่และจำนวนหมาแมวที่เลี้ยงได้ตามกฎหมายกำหนด รศ.ทวิดา กล่าวว่า ข้อบัญญัตินี้ได้ไว้ดังนี้ 1.พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว 2.พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว 3.เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว 4.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 20 ตารางวา แต่ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 3 ตัว 5.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา แต่ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 4 ตัว 6.เนื้อที่ดินตั้งแต่ 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 6 ตัว นอกจากนี้ ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ 1.เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางวา 2.เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตาราวางวา 3.เลี้ยงไก่ เป็ด ห่านได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 4 ตารางเมตร 4.เลี้ยงนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ หรือนกที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางเมตร 5.เลี้ยงนกขนาดเล็กได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 1 ตารางเมตร กรณีเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ฟาร์มสัตว์ ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ โรงแรมสัตว์ ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เวลามีข้อร้องเรียนมาก็จะมีความผิดแรงขึ้นกว่าเดิม จึงขอความเห็นใจให้เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครและขอความร่วมมือในการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงด้วย” รศ.ทวิดา กล่าวทิ้งท้าย