วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง นางสาวสิการย์ เฟื่องฟุ้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยนางวินดา เหลี่ยมสมบัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง และคณะทำงาน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI สินค้า กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า ลงพื้นที่ตรวจประเมินพิจารณาคําขอใช้ สินค้า กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" เพื่อขับเคลื่อนการดําเนินงานเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI "กระท้อน ทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" ในการประมวลข้อมูล จัดทําร่างคําขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI พิจารณา รับคําขอขึ้นทะเบียน ตรวจสอบคําขอและคุณสมบัติของสมาชิกผู้ขึ้นทะเบียนขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI สินค้า "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" ตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามตรวจสอบคุณภาพของผู้ที่ได้รับอนุญาต ให้ใข้เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ซึ่งวันนี้มีขอรับคําขอขึ้นทะเบียน จำนวน 19 รายที่มีความประสงค์ขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งซี้ทางภูมิศาสตร์ GIโดยจะลงพื้นที่ตรวจประเมินพิจารณาคําขอใช้ และควบคุมตรวจสอบระบบการผลิต และ จําหน่ายสินค้าสิ่งบ่งซี้ทางภูมิศาสตร์GI "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" ในวันที่ 19และ20 พฤษภาคม 2568 เพื่อออกใบให้ใข้เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ต่อไป
สำหรับกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” เป็นกระท้อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ “ทองใบใหญ่” ณ วัดยางทอง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ขั้วผลนูนเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนอกไม่เรียบ ผลสุกสีเหลืองทอง เนื้อหนานุ่ม ฉ่ำ ปุยเมล็ดมีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอมหวาน มีการขยายพื้นที่ปลูกทั้งอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบตะกอนน้ำพา มีชุดดินสิงห์บุรีที่มีธาตุโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง
รวมถึงภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกของเกษตรกรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุก ส่งผลให้กระท้อนมีรสชาติหวานฉ่ำ รสชาติอร่อย และเจริญเติบโตได้ดี จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านรสชาติอันดับ 1 ของจังหวัดอ่างทอง และได้มีการจัดงานมหกรรมกระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก เพื่อเผยแพร่ผลผลิตกระท้อนให้เป็นที่นิยมของตลาด จนสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนกว่า 6 ล้านบาทต่อปี
โดย นางสาวสิการย์ เฟื่องฟุ้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล