นักวิจัย ม.เชียงใหม่ ร่วมกับนักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ กรมอุทยานฯ และอีกหลายหน่วยงาน ค้นพบ "ธาราทุม" กระดังงาชนิดใหม่ของโลกจากภาคใต้ พบขึ้นใกล้แม่น้ำตาปี สถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

คณะผู้วิจัย นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักอนุกรมวิธานพืช สังกัดสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ และ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก พร้อมทั้งนายอรุณ สินบำรุง นายพรธวัช เฉลิมวงศ์ และนายผดุงศักดิ์ เสือแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รองศาสตราจารย์ ดร.สุธีร์ ดวงใจ สังกัดภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนางสาวหทัยชนก จงสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกันค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sageraea multiovulata Wiya, Sinbumr. & Chaowasku และมีชื่อไทยว่า “ธาราทุม” ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Plant Systematics and Evolution ปีที่ 311 ฉบับที่ 3 บทความหมายเลข 14 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

“ธาราทุม” มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 18 เมตร ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีครีมถึงเหลืองอ่อน ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อสุกมีสีเขียวอมเหลือง มีเมล็ดจำนวนมาก เรียงตัว 2 แถว อนึ่ง ต้นธาราทุมมีนิเวศวิทยาที่โดดเด่นไม่เหมือนพืชชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน กล่าวคือ พบขึ้นใกล้ชายฝั่งแม่น้ำตาปีในอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละปีพื้นที่ดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน จึงเป็นที่มาของชื่อ (ธารา-สายน้ำ ทุม-ต้นไม้) โดยผลของธาราทุมจะสุกในช่วงเริ่มต้นฤดูน้ำหลากราวเดือนตุลาคม ส่วนคำระบุชนิด “multiovulata” มีความหมายว่า “มีออวุลจำนวนมาก” สะท้อนลักษณะสำคัญของพืชชนิดใหม่นี้ที่มีออวุล 19–20 อันต่อรังไข่ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในสกุล

“ธาราทุม” อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ เนื่องจากสามารถพบได้ในจำนวนไม่มากนักในพื้นที่จำกัด ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ได้รับการดูแลโดยชุมชนบ้านบางประ อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยนายประมวล ประสมรอด ผู้ประสานงานชุมชนฯ

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการรายงานการใช้ประโยชน์จากต้นธาราทุมอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่น่าสนใจ จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อประเมินศักยภาพในการใช้เป็นพืชสมุนไพร อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในเชิงภูมิทัศน์ เนื่องจากเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ปลูกง่าย และมีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นไม้ประดับที่ให้ร่มเงา