วันที่ 18 พ.ค.68 นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับแจ้งจากชุดเฝ้าระวังช้างป่า พบช้างป่า เพศผู้ มีงา นอนตาย พิกัด UTM 47P 0570274E 1341479N ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี บริเวณ ท้องที่หมู่ที่ 7 บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ ต่อมาคณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำโดย นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วย นายอนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พนักงานสอบสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านยางชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 1452  (บ้านย่านซื่อ) ทหารชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มณฑลทหารบกที่ 15 เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF ประเทศไทย และชาวบ้านในพื้นที่ เข้าตรวจสอบซากช้างป่าและทำการผ่าชันสูตร

 

ทั้งนี้พบว่าเป็นช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี น้ำหนักประมาณ 1.5 ตัน มีงาทั้ง 2 ข้าง สภาพซากเน่าสลาย ไม่พบบาดแผลใดๆ คาดว่าตายมาแล้วราว 5-7 วัน ใช้เครื่องสแกนโลหะไม่พบชิ้นส่วนโลหะหรือหัวกระสุนแต่อย่างใด ได้ทำการผ่าซากพบว่าอวัยวะภายในได้เน่าสลายจนไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้ จึงได้ทำการพลิกซากช้างเอาด้านขวาขึ้น พบรอยบาดแผลบริเวณสะโพกขวา ขนาด 10x10 ซม. จึงได้ทำการล้วงตามบาดแผลไปลึกถึงกระดูกสะโพก (Ilium) พบว่ากระดูกสะโพกทะลุและแตกเป็น 2 ส่วน มีเศษอาหารทะลักออกมาในรู โดยบาดแผลอยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 150 ซม. ขอบแผลมีลักษณะไม่เรียบคล้ายรอยฉีก จึงคาดว่าเกิดจากพฤติกรรมฝูง ช้างป่ามีงาขนาดใหญ่ทำร้าย เนื่องจากขนาดบาดแผลมีความใกล้เคียงกับขนาดของงาช้างเต็มวัย จึงทำให้ช้างตัวนี้ได้รับบาดเจ็บและตายลงในที่สุด

ก่อนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ทำการถอดงาทั้ง 2 ข้าง เก็บรักษาไว้ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ช้าง เบื้องต้นคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นว่าเห็นควรทำลายซากด้วยวิธีฝังกลบซากในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อสู่สัตว์ป่าอื่นๆ ต่อไป และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรบ้านยางชุมต่อไป