ผู้ปลูกกระเทียมตำบลห้วยโป่ง น้ำตาตก ไร้วี่แววพ่อค้ามาซื้อกระเทียม ส่วนที่เข้ามาซื้อ ก็ต่อรองราคาถูกจนไม่สามารถจำหน่ายได้ วอนภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน หาตลาดรองรับให้กับชาวบ้านด้วย
เมื่อวันที่ 17 พ.ค.68 ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจากตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จาก 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 1, บ้านแก่นฟ้า หมู่ที่ 2, บ้านป่าลาน หมู่ที่ 3, บ้านไม้ฮุง หมู่ที่ 5, บ้านกลาง หมู่ที่ 7 และ บ้านห้วยช่างคำ หมู่ที่ 8 จำนวนกว่า 50 คน รวมตัวกันเพื่อวอนขอภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมาดูแลและให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ในพื้นที่ตำบลห้วยโป่ง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวี่แววพ่อค้าเข้ามารับซื้อกระเทียมแต่อย่างใด บางส่วนที่เข้ามาก็ต่อรองรับซื้อในราคาถูกมาก ( ราคา กก.ละ 22 -30 บาท ) เกษตรกรบางรายก็จำเป็นต้องขาย เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ ซ้ำเป็นช่วงของการเปิดภาคเรียน ต้องจ่ายค่าเทอม ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน หนี้สินรุงรัง เพราะลงทุนปลูกกระเทียมไปแล้ว แต่กระเทียมกลับไม่ได้ขาย สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือเก็บกระเทียมแห้งเข้าโกดังไว้ รอวันที่ได้จำหน่าย
โดยนางแรมจันทร์ ไชยสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านไม้ฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยโป่ง ได้เปิดเผยถึงข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ของจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม และจำนวนกระเทียมที่มีอยู่ ของ 6 หมู่บ้าน ในตำบลห้วยโป่ง ดังนี้
บ้านไม้ฮุง มีเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 38 ราย ผลผลิตกระเทียม 221,400 กิโลกรัม
บ้านแก่นฟ้า เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 37 ราย กระเทียม 154,600 กิโลกรัม
บ้านกลาง เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 37 ราย กระเทียม 184,100 กิโลกรัม
บ้านห้วยช่างคำ เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 7 ราย กระเทียม 35,000 กิโลกรัม
บ้านป่าลาน กระเทียม 80,000 กิโลกรัม
บ้านห้วยโป่ง เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 21 ราย กระเทียม 103,700 กิโลกรัม
ซึ่งหากรวมจำนวนพื้นที่การปลูกกระเทียม ของตำบลห้วยโป่งในปีนี้ ลดลงกว่าครึ่งของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตกระเทียมก็ลดน้อยลงกว่า 30% เพราะเกษตรกรในพื้นที่บางรายเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ถั่วลายเสือ เป็นต้น เพราะลงทุนน้อยและจำหน่ายได้ง่ายกว่า ย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ปัญหากระเทียมล้นตลาดอย่างแน่นอน คาดว่าน่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคหันไปใช้กระเทียมที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีหัวขนาดใหญ่ ปอกเปลือกง่าย และราคาถูกกว่ากระเทียมของไทยนั่นเอง
ส่วนต้นทุนการปลูกกระเทียม อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม อยากขอราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 60 บาท ก็จะอยู่ได้ หากราคาต่ำกว่านี้คงลำบากกันไปหมด (ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้จำหน่ายกระเทียมราคา กก.ละ 50-55 บาท)
นายแดง ปฎิพัทกวี เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านไม้ฮุง หมู่ที่ 5 ได้เปิดเผยว่า ในขณะนี้เกษตรกรเก็บกระเทียมเข้าโรงไว้ รอพ่อค้าเข้ามารับซื้อ แต่บางคนก็ได้ขายไปด้วยความจำเป็น ในราคา กก.ละ 22-30 บาท ซึ่งยอมขายแบบขาดทุน แต่ในช่วงนี้ไม่มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อเลย จึงอยากวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้าง
นายสมบูรณ์ พิรุณรัตน์ อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านไม้ฮุง ก็ได้กล่าวว่า ปีนี้กระเทียมยังไม่ได้ขาย ขอฝากถึงพ่อเมืองของเรา พาณิชย์จังหวัดฯ สส.แม่ฮ่องสอน ในส่วนของตนเองในปีนี้ ได้ลงทุนปลูกกระเทียม 80 ถัง 2 แสนกว่าบาท ถ้าหากว่า ได้ขายราคากิโลกรัมละ 60 บาท ก็พอใจแล้ว
นางอิ๊ด จันทร์โอภาส เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านแก่ฟ้า หมู่ที่ 2 ได้กล่าวว่า ความลำบากของชาวบ้านคือต้นทุนการปลูกสูง ราคากระเทียมตกต่ำ และตอนนี้เกษตรกรเดือดร้อนเพราะไม่ได้ขายกระเทียม และไม่มีพ่อค้าเข้ามาซื้อกระเทียมเลย ในส่วนของกระเทียมที่บ้านแก่นฟ้าในตอนนี้มีอยู่ประมาณ 150 ตัน หรือ 156,400 กิโลกรัม
นางอรสา ภาพเพริดพริ้ง เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านกลาง หมู่ที่ 7 กล่าวว่า กระเทียมปีนี้ ราคาตกต่ำ ต้นทุนก็สูง ตอนนี้ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอมาช่วยดูแลด้วย ติดหนี้ ธกส.ก็ยังไม่ได้ใช้ เพราะยังไม่ได้ขายกระเทียม
นายก๋องคำ บุญมาลา เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านป่าลาน หมู่ที่ 3 กล่าวว่า ราคากระเทียมตกต่ำ ที่ยังไม่ได้ขายก็เพราะว่ามีพ่อค้ามารับซื้อใน กก.ละ 30 บาท จึงไม่ขายเพราะไม่ได้ทุนคืน ตอนนี้ลูกหลานเปิดเทอม หนี้ ธกส.ก็ต้องใช้ เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในส่วนของตนปลูกกระเทียม 7 ไร่ ลงทุนไปกว่า 2 แสน
นายบุญเทียม บุญมาลา อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านป่าลาน ก็ได้กล่าวว่า อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพราะตอนนี้เกษตรกรหาทางออกไม่ได้ พ่อค้าคนกลางมาให้ราคา กก.ละ 30 บาท ซึ่งขาดทุน ปีนี้ขอได้ขายแค่ ราคา กก.ละ 60 บาท ก็อยู่กันได้แล้ว
นางกัญณิกา ปัญญา เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมบ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 1 กล่าวว่า เพราะรายได้หลักของเรามาจากกระเทียม ปีนี้ราคากระเทียมตกต่ำ อยากขอทางราชการมาช่วยในการหาตลาดเพื่อจำหน่ายกระเทียม ให้กับเกษตรกรด้วย
นายจำเริญ วงศ์ปัญญา เกษตรกรผู้ปลูกกระเทยมบ้านห้วยโป่ง กล่าวว่า ตอนนี้ ไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อกระเทียมในพื้นที่ตำบลห้วยโป่งเลย นี่คือปัญหาหลัก ปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ขอวิงวอนหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาดูแลเรื่องราคากระเทียมให้กับพวกเราด้วย
ด้านนายอาวุธ ขยันดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโป่ง กล่าวปิดท้ายว่า ปีนี้ พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อกระเทียมในพื้นที่น้อยมาก และราคาที่รับซื้อก็ต่ำ จึงทำให้กระเทียมตกค้างตามโกดังในหมู่บ้านต่าง ๆ เยอะมากกว่าทุกปี สรุปคือราคากระเทียมต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการปลูกสูง อยากขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มาดูปัญหาของชาวบ้านพี่น้องเกษตรกร เพื่อหาแนวทางแก้ไขช่วยชาวบ้าน
สำหรับกระเทียม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยโป่งมานานแล้ว กระเทียมที่นี่ ขึ้นชื่อในเรื่องของกระเทียมพันธุ์ดี เพราะเป็นกระเทียมสายน้ำแร่ เป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ และได้รับการันตีว่าเป็นกระเทียม GAP ในวันนี้ เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมทุกคน ได้แต่รอคอยความหวังจากหน่วยงานของรัฐ ในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการตลาด เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้จำหน่ายกระเทียมในราคาที่เป็นธรรม