สตูล เครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้รวมพลัง “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” สร้างกระแสวันงดสูบบุหรี่โลก ชู “นิโคติน เสพติด จน ตาย”

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568   นักข่าวจังหวัดสตูลเข้าร่วม  กิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส     “วันงดสูบบุหรี่โลก 2568 : คนภาคใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” โดยเครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้รวมพลัง จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างกระแสในระดับพื้นที่ให้กว้างขวาง ให้มีความรู้ ตระหนักถึงโทษและพิษภัยการเสพติดนิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้า นำโดย สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช  ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, เครือข่ายยุวทัศน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายจังหวัดนครศรีธรรมราช  สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

นางวจิราพร  อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ประธานในการเปิดงานกล่าวว่า  การระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนในจังหวัดภาคใต้ โดยร่วมกันรณรงค์สร้างกระแสป้องกันการเข้าถึงบุหรี่  บุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ  เพราะปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสุขภาพของประชาชน  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน   อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ จากพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในภาคใต้ยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พ.ศ.2567 พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 22.1 โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดคือ ร้อยละ 27.1  รองลงมาคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 25.59,  ระนอง  ร้อยละ 25.53,พัทลุง ร้อยละ 24.06, ปัตตานี ร้อยละ 23.93 และตรัง ร้อยละ 23.49 ตามลำดับ  ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 

"นอกจากนี้ การสำรวจในนักเรียนมัธยมศึกษาภาคใต้ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข  พบว่า ร้อยละ 14.5 เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยนักเรียนชายมีอัตราการใช้สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญ  สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นในการเร่งรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  การจัดกิจกรรมในวันนี้  ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้ และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม  ร่วมกันสร้างกระแสรณรงค์ให้เกิดการรับรู้และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยอันตรายของการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจให้กับทุกภาคส่วน ร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสังคมปลอดบุหรี่ในภาคใต้ของเราอย่างยั่งยืน"  นางวจิราพร  กล่าว  

ขณะที่ นายพิทยา จินาวัฒน์  คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บทบาทของ สสส. ซึ่งมีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเชื่อ และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อคุณภาพชีวิต ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ซึ่งปัญหาการคุกคามของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ถือเป็นสงครามที่ยากจะเอาชนะได้ ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วนที่ร่วมใจรวมพลังกันต่อสู้เหมือนงานในวันนี้ ซึ่งการทำสงครามกับบุหรี่  สมรภูมิเปลี่ยนไปหมดแล้ว เนื่องจากการ disrupt ของเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนคือ การมาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ เพศหญิง กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น  จะเห็นว่าตอนนี้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่มวนร้อยละ 1.3 แต่เยาวชนที่เป็นผู้หญิง พบว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ถึงร้อยละ 15  และหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะเป็นการเพิ่มอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงสูงเพิ่มไปถึง 30-40% เลยที่เดียว ดังนั้น ถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยความร่วมมือการสื่อสารกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร  เพื่อปกป้องลูกหลานไทยให้รอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 

ด้านนายอานนท์ มีศรี นายกสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างกระแส  “วันงดสูบบุหรี่โลก 2568: คนภาคใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “Unmasking the Appeal: Exposing Industry Tactics on Tobacco and Nicotine Products”  ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงใช้ภาษาไทยในการสื่อสารรณรงค์สร้างกระแสว่า “กระชากหน้ากากธุรกิจบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า: นิโคติน เสพติด จน ตาย”  เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และร่วมกันเปิดโปงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่มุ่งเป้าทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ในโอกาสนี้ เพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างกระแสในระดับพื้นที่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น  และเพื่อเชิญชวนชาวใต้ทุกภาคส่วน ร่วมกันสื่อสารและแสดงเจตจำนงในการร่วมกันปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของคนใต้  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนชาวใต้  ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  รวมถึงเพื่อสื่อสารให้ภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบ ได้มีความรู้ ความเข้าใจต่ออันตรายของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า  และกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่  

"โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจาก หลายภาคส่วน  ได้แก่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, แผนกเวชกรรมสังคม  คลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช,  สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช,  เครือข่ายยุวทัศน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม,   เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด จ.ตรัง,   เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดย จุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่จังหวัดปัตตานี, เครือข่ายเยาวชน Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบภาคใต้,  เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ Gen Alpha โดย โรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็ก อบต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา,   เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ และ ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว  ได้ร่วมกันออกบูธนิทรรศการ ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ,  แจกสื่อประชาสัมพันธ์,  เล่นเกม แจกของที่ระลึก/รางวัล,  บริการตรวจสุขภาพ  และให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า  โดยกิจกรรมทั้งหมดจัดขึ้น ณ ลานวัฒนธรรมสวนศรีธรรมาโศกราช อ.เมือง   จ.นครศรีธรรมราช  ระหว่างเวลา 16.30-20.00 น." นายอานนท์ กล่าว