เที่ยว 21 อุทยานแห่งชาติภาคใต้ ได้อย่างมีความสุข และปลอดภัย ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ด้วยทีมงานมืออาชีพมากประสบการณ์ ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์มาตรฐาน และการประสานงานเพื่อส่งรักษาต่อ  


 นายกฤษณ์วิกรม แกล้วกล้า หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต เป็น 1 ใน 7 ศูนย์กู้ภัย ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดตั้งขึ้น ด้วยตระหนักถึงความสำคัญ ด้านการดูแลช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ที่เข้ามาใช้บริการในอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นดำเนินงานตามมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อีกทั้งศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติ จำนวน 7 ศูนย์ ที่ครอบคลุมอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ฝึกซ้อมการปฏิบัติงานด้านการค้นหา กู้ภัย ให้แก่ชุดกู้ภัยประจำอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 155 แห่ง เพื่อให้เกิดทักษะและเข้าใจขั้นตอนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุในทุก ๆ อุทยานแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

นายกฤษณ์วิกรม กล่าวอีกว่า ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกู้ภัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ ที่รับผิดชอบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 21 แห่ง ได้แก่ จังหวัดชุมพร ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาสก, อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง, อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น, อุทยานแห่งชาติคลองพนม, อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ – เกาะพะงัน, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง, จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี, อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา, จังหวัดพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน, อุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง, อุทยานแห่งชาติเขาหลัก – ลำรู่, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, อุทยานแห่งชาติศรีพังงา, จังหวัดระนอง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว, อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี, อุทยานแห่งชาติแหลมสน, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง และจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติสิรินาถ

นายกฤษณ์วิกรม กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมการปฏิบัติงานกู้ภัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องถือว่า มีประสิทธิภาพสูง มีระดับความสำเร็จในแต่ละภารกิจไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70-80 ซึ่งปัจจุบันตัวเลขของการเกิดเหตุที่ต้องดำเนินการกู้ภัยให้ความช่วยเหลืออยู่ในระดับที่ต่ำ  หากเทียบกับในอดีต สาเหตุ มาจากนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เน้นการทำงานเชิงรุก เน้นการป้องกันด้วยการจัดการพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว ดั่งที่เห็นได้จาก หากกรณีฝนตกหนัก เกิดน้ำป่าไหลหลาก จะมีการประกาศปิดอุทยานทันที


“ แม้จะมีการป้องกันล่วงหน้า แต่ในส่วนของศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต ได้เตรียมความพร้อมในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการกู้ภัยนั้น สิ่งสำคัญ คือ เวลา ทุกนาทีจึงมีค่า จึงเน้นให้มีการจัดทำแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน เตือนภัย กู้ภัยที่ได้มาตรฐาน พร้อมวางมาตรการและกำกับดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่อเงที่ยว รวมถึงพัฒนาและจัดให้มีการฝึกอบรม ฝึกซ้อม ปฏิบัติในการป้องกัน และการกู้ภัยที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น วิธีการช่วยชีวิตคนจมน้ำในทะเล กำหนดจุดพิกัด และเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น รวมถึงจัดให้มีสถานที่เพื่อสนับสนุนงานกู้ภัย เช่น ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ห้องปฐมพยาบาล รถยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน อุปกรณ์ รวมทั้งระบบการส่งต่อที่ประสานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผ่านสายด่วน 1669  

“เคสการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวล่าสุดที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 6 จังหวัดภูเก็ต ได้รับมอบหมายให้ร่วมดำเนินการ คือ ภารกิจค้นหานักท่องเที่ยวชาวฮอลแลนด์ ที่หายตัวไปบริเวณจุดชมวิว บนยอดเขาหงอนนาค อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ในการนี้ ได้มีการจัดทีมกู้ภัยเข้าดำเนินการ ซึ่งต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ และเทคนิคขั้นสูงในการค้นหา ด้วยสภาพพื้นที่เป็นหน้าผาสูง นอกจากต้องใช้เวลาเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 4 กิโลเมตรแล้ว ยังต้องมีการโรยตัวค้นหาตามหน้าผาบนยอดเขา ไล่ลงมาจนถึงด้านล่าง และที่สำคัญ เป็นการทำงานแข่งกับเวลา แม้จะเป็นภารกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า นักท่องเที่ยว ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว”นายกฤษณ์วิกรม กล่าว