สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “ความเสี่ยง ภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำปี 2568 ได้อย่างทันท่วงที
วันที่ 16 พ.ค.68 นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เป็นประธานเปิดประชุมเสวนาทางวิชาการ “ความเสี่ยง ภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” ซึ่งสมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในปี 2568 โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐผู้อำนวยการศูนย์ อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และมีรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2568 นี้ อิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลโซ่ (ENSO) ได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 คาดการณ์ภาพรวมฝนปีนี้ มีแนวโน้มตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้านพายุจรคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้สภาพพื้นดินชุ่มน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝน อาจทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้
“งานเสวนาวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ที่จะเกิดขึ้นปี 2568 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยปฏิบัติงานและหน่วยงานกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานฝ่ายบริหารของรัฐบาลมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้ข้อสรุปที่ก่อให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อลดภัยพิบัติจากน้ำของประเทศต่อไป” นายสัญชัย กล่าว
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ ได้ถอดบทเรียนจากภัยพิบัติที่ผ่านมา อาทิ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2568 กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ โดยติดตั้งไว้ตามจุดเสี่ยงทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค และสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณฝน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในทุกพื้นที่ และมีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
ในด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ อาทิ เรดาร์ตรวจอากาศแบบ Solid-state X-band RID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ , SWAMP แพลตฟอร์มบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ พัฒนาระบบวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลด้านการจัดการน้ำอย่างครบวงจร , rriSAT เทคโนโลยีสำหรับประเมินความต้องการใช้น้ำของพืชล่วงหน้า 7 วัน ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยกระดับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น