แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ ในเกมโหดสุดอำมหิตของการเมืองไทย เมื่อจังหวะปฏิทินการเมืองส่งพรรคภูมิใจไทยเข้าสู่จุดได้เปรียบในดุลอำนาจทางการเมือง ด้วยปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ท่ามกลางกระแสข่าวที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ ว่า พรรคภูมิใจไทยอาจใช้ “ไม้ตาย” คว่ำร่างกฎหมายงบฯ เพื่อต่อรองและแสดงพลังทางการเมือง โดยร่างกฎหมายงบประมาณถือเป็นกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่านสภาฯ นายกรัฐมนตรีมีทางเลือกเพียงลาออกตามธรรมเนียม หรือชิงจังหวะ “ยุบสภา”

ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องรีบออกมาสยบข่าว ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดยุบสภาในช่วงนี้ และเสถียรภาพรัฐบาลยังมั่นคง

แต่ในความเป็นจริง เกมการเมืองระหว่าง “พรรคสีแดง” กับ “พรรคสีน้ำเงิน” กลับร้อนระอุยิ่งกว่าที่ตาเห็น และใกล้ถึง "จุดแตกหัก"!!

กระแสข่าวตามมาอีกระลอก ว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมยึดกระทรวงมหาดไทยกลับมาเป็นโควตาของตัวเอง พร้อมสลัดพรรคภูมิใจไทยให้ไปเป็นฝ่ายค้าน และจับมือกับพรรคประชาชนตั้งรัฐบาลแทน แม้พรรคประชาชนจะปฏิเสธหลายครั้งว่าต้องการวางตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่เข้าร่วมกับเพื่อไทย และไม่เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง

หากพิเคราะห์สถานะของพรรคประชาชนอย่างสังเคราะห์ จะพบว่าพรรคเองก็อยู่ในภาวะลำบาก เมื่อ 44 ส.ส.ในสังกัดต้องเผชิญคดีจาก ป.ป.ช. และอาจสูญเสียไปถึง 25 คน ที่เหลือก็มีความเสี่ยงถูกดูดไปร่วมพรรคอื่น

นั่นทำให้เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่โพสต์ภาพนั่งพูดคุยอย่างออกรสกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ประหนึ่งส่ง "สัญญาณ" ว่า พรรคภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติพร้อมไปด้วยกัน หากถูกขับจากรัฐบาล

หากย้อนไปดูร่องรอยความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย จะเห็นได้ว่า ทั้งสองพรรคขบเหลี่ยมกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกัญชาเสรีที่ภูมิใจไทยผลักดันแต่ถูกเพื่อไทยเบรก การขัดแย้งในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย หรือคดีฮั้วเลือก ส.ว. 2567 ที่ดีเอสไอ เดินหน้าเล่นงาน ส.ว.สายภูมิใจไทยกว่า 138 คน

พร้อมกันนั้น 92 ส.ว. ได้โต้กลับยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 2 รัฐมนตรี คือ ภูมิธรรม เวชยชัย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะดูแลดีเอสไอ

โดยเฉพาะปมแตกหักสำคัญ คือประเด็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกัน

อีกทั้งยังมีรายงานว่าอดีตนายกรัฐมนตรี 2 พี่น้อง ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจรจากับนักลงทุนเกี่ยวกับใบอนุญาตไว้ล่วงหน้าแล้วทั้ง 5 ใบ จึงไม่แปลกที่มีข้อเสนอจากฝ่ายใต้ปีก "ยิ่งลักษณ์" ให้ขับพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยดูเหมือนวางแผนสำรองไว้ล่วงหน้า ผ่าน "สงครามตัวแทน" โดยดึงพรรคกล้าธรรมของ "ผู้กองมนัส" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามาเสริมเสียง ผ่านการดูด ส.ส.จากพรรคประชาชนและพรรคเล็กอย่างต่อเนื่อง

โดยไทม์ไลน์สำคัญคือ หลังมีข่าวว่าภูมิใจไทยเตรียมคว่ำร่างงบฯ ในวันรุ่งขึ้น กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ส.ส.พรรคประชาชน ก็ประกาศย้ายไปร่วมพรรคกล้าธรรมทันที เสมือนลดอำนาจต่อรองของภูมิใจไทยลง

ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ยังยืนยันด้วยว่ากำลังจะมี ส.ส.อีก 10 คนย้ายตามมา ทั้งกลุ่มและตัวบุคคล

ขณะเดียวกัน ยังมี "กลุ่มมะขามหวาน" จากพรรคพลังประชารัฐที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาล และพร้อมเข้าร่วมก่อนเลือกตั้ง อาจเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยค้ำรัฐบาลหาก 69 เสียงของภูมิใจไทยหายไป

การเติมเสียงของพรรคการเมือง นอกจากจะทำให้อำนาจทางการเมืองของพรรคในขั้วเดียวกันลดน้อยลงแล้ว ยังอาจเพิ่มอำนาจการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับ "พรรคกล้าธรรม" ในการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในอนาคต การเคลื่อนไหวเช่นนี้จึงไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสมดุลอำนาจภายในรัฐบาล แต่ยังสะท้อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มุ่งสร้างแต้มต่อในการเจรจาต่อรองตำแหน่งสำคัญอีกด้วย

แม้มีแผนสำรอง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังต้องเผชิญปมร้อนหลายด้าน ทั้งคดีชั้น 14 ของ "ทักษิณ" ที่ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 และคดีมาตรา 112 ที่จะมีการสืบพยานในเดือนกรกฎาคม

หากผลคดีออกมาในทางลบ ย่อมกระทบไม่เพียงแต่ตัวทักษิณเอง แต่ยังสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

และ "จุดตาย" สำคัญอีกจุด คือภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแบกน้ำหนักความคาดหวังของประชาชนไว้อย่างมหาศาล อาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยสะดุด

ทั้งหมดนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องคิดคำนวณทุกก้าวอย่างรอบคอบ เพราะการแตกหักกลางสมัยจะเป็น "ระเบิดเวลา" ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไทย ภายใต้เกมการเมืองที่ชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา ซึ่งไม่มีอะไรแน่นอน ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ