กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียน ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี 2478  ยืนยันว่า เป็นของไทย อยู่ในดินแดนไทย มายาวนาน

แต่การสู้รบกับทหารกัมพูชา ในปี2554 ทหารกัมพูชา รุกคืบเข้ามา หมายจะยึดปราสาท ในพื้นที่ชายแดน หลายแห่ง ทั้ง ปราสาทโดนตวล  ปราสาทตาควาย และ ปราสาทตาเมือนธม

แม้จะยึดไม่สำเร็จ ทหารไ ทยยังคุมพื้นที่ได้อยู่ แต่ก็เสมือนว่า  ไทยเสียดินแดน ให้เขมรครึ่งหนึ่ง ก็ว่าได้

เหตุเพราะข้อตกลง ในการเจรจาหยุดยิง ออกแนวรอมชอม โดยให้ ทหารไทยและทหารกัมพูชา  อยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ข้อผิดพลาดคือ การจัดให้มี ทหารชุดประสานงาน ฝ่ายละ5 คน อยู่ร่วมกันในพื้นที่  ทั้ง ปราสาทตาเมือนธม และ ปราสาทตาควาย

ที่ปราสาทตาควายนั้น มีการสู้รบกันอย่างหนัก  แม้ทหารกัมพูชาจะสูญเสียหนักกว่า  แต่ก็ขึ้นมาอยู่บนปราสาท  แล้วจบลงที่ เจรจา จนมีการ แบ่งปราสาทกันคนละครึ่ง  มีทหารชุดประสานงาน ดูแลในฝั่งของตนเอง คนละครึ่ง  ที่ถือว่า ฝ่ายไทยเสียเปรียบ

แต่ที่ปราสาทตาเมือนธมนั้น แม้ทหารไทย จะยึดปราสาทได้ทั้งหมด  ส่วนทหารกัมพูชา  อยู่ได้แค่ทางขึ้นปราสาท ด้านล่าง เพราะเป็นชัยภูมิที่ต่ำกว่า

แต่การเจรจาสงบศึก ที่ใช้หลักการเดียวกันคือ ให้อยู่ร่วมกันในพื้นที่ อย่างสันติ กลับทำให้ไทย เสียเปรียบ

เมื่อมี ทหารกัมพูชา 5 นาย มาเป็นชุดประสานงาน  อยู่ร่วมกันบนตัวปราสาท  และเปิดให้ ชาวกัมพูชา มาท่องเที่ยว 0900-1500 น. ทุกวัน   และมีอะไร ก็ต้องบอกทหารกัมพูชา จนกลายเป็น เสมือนต้องขออนุญาต จะทำอะไรต้องบอกกันก่อน ตามธรรมเนียมชุดประสานงาน

ทหารกัมพูชา อยู่แบบนี้ มากว่าสิบปี  อีกทั้งทหารไทย เป็นสุภาพบุรุษ เป็นทหารอาชีพ และมีความเมตตา ต่อทหารกัมพูชา เสมอๆ  ทั้งอาหารการกิน  น้ำใจไมตรี  สไตล์คนไทย ที่ง่ายๆสบายๆ ปล่อยปละไปบ้าง

แต่มันกลับส่งผลลบต่อฝ่ายไทย  เมื่อสถานการณ์ ตึงเครียด  เช่นในปัจจุบันนี้

กลับกลายเป็นว่า ทหารกัมพูชา โดยพฤตินัย  เคลมความเป็นเจ้าของปราสาทตาเมือนธม อยู่ด้วย  ทั้งๆที่ทหารไทยยึดอยู่ทั้งหมด และ เป็นดินแดนไทย

อีกทั้งระดับผู้บังคับบัญชาฝ่ายไทย ก็สั่งให้ทหารไทย อดทนอดกลั้น เพราะไม่ต้องการเป็นฝ่ายเริ่มก่อน หากเกิดเหตุการณ์“น้ำผึ้งหยดเดียว ”เพราะไทยเราเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า กลับกลายเป็นต้องยอมทหารกัมพูชา แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นการเปิดช่องให้ทหารกัมพูชา เคลมความเป็นเจ้าของปราสาทร่วมไปด้วย

แม้จะมีเสียงในพื้นที่ให้ปิดปราสาทไม่ให้ชาวกัมพูชาขึ้นมาท่องเที่ยว ด้วยเพราะในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบความผิดปกติที่ฝ่ายกัมพูชาระดมชาวกัมพูชาให้มาเที่ยวบนปราสาททุกวันและในบางวันก็กลายเป็นทหารกัมพูชาขึ้นมาเป็นร้อย ทั้งทหารชายและในบางวัน ก็เป็นทหารหญิง มาเดินขวักไขว่เสมือนแสดงความเป็นเจ้าของปราสาท  และมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อในการแสดงความเป็นเจ้าของและโจมตีฝ่ายไทยว่าเป็นผู้รุกราน

แต่ทหารไทยก็ไม่สามารถที่จะปิดปราสาทไม่ให้ฝั่งเขมรขึ้นมาท่องเที่ยวได้เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขและนำไปสู่การปะทะกัน  แม้ว่าทหารไทยจะไม่ได้กลัวทหารเขมร แต่สิ่งที่กลัวคือไม่ต้องการเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขจนนำไปสู่การปะทะหรือการสู้รบ

ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา มีกลยุทธ์ในการคืบคลานแสดงความเป็นเจ้าของ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ให้ชาวกัมพูชา ขึ้นมาท่องเที่ยวทุกวัน ถ่ายภาพโพสต์โซเชียลแสดงความเป็นเจ้าของ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ ทหารกัมพูชามายืนร้องเพลงชาติ และแม่บ้านทหารกัมพูชา ก็ขึ้นมาร้องเพลงชาติเพลงปลุกใจ บนปราสาทจน ฝ่ายทหารไทย ต้องไปห้ามไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ จนเกิดการกระทบกระทั่งกันมา และสถานการณ์ตึงเครียดจนบัดนี้

โดยที่ฝ่ายทหารกัมพูชา พยายามยั่วยุให้ทหารไทยไม่พอใจในหลายเหตุการณ์  แต่ทหารไทยก็ต้องอดทน

สิ่งหนึ่งที่ทหารไทยในพื้นที่รู้สึกคล้ายๆกันก็คือ ทหารกัมพูชาในปัจจุบัน พยายามยั่วยุ และไม่เกรงใจ ไม่ยำเกรงทหารไทย เลย กล้ามายืนโต้เถียง  ผลักอกทหารไทย

อาจเป็นเพราะทหารกัมพูชาได้ใจจากการที่ฝ่ายไทยปล่อยให้ทำผิดข้อตกลง MOU 43 มานับครั้งไม่ถ้วน มีการทำผิดข้อตกลงในการสร้างถนน เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ สร้างฐานทหาร  ขุดบ่อ สนามเพลาะ และนำชาวกัมพูชา  และลูกเมียทหารเข้ามาจับจองพื้นที่ สร้างชุมชนรุกพื้นที่มาในหลายพื้นที่  แต่ไทยก็ได้แต่ประท้วงผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดน ฯ และกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น  โดยที่ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่หยุดการก่อสร้าง หรือการกระทำที่ขัดข้อตกลง  MOU 43

ทหารกัมพูชาได้ใจ และ เคลมสิทธิ์เหนือปราสาทตาเมือนธม  ถึงขั้น มีการถ่ายมิวสิควิดีโอ เรื่องราวของปราสาทตาเมือนธม ออกสื่อกัมพูชา  เคลมความเป็นเจ้าของปราสาทฯ

แต่ความเป็นทหารไทยความเป็นคนไทย ที่ปล่อยปละ เรื่องเล็กเล็กๆน้อยๆ กลับส่งผลในเชิงลบต่อฝ่ายไทยเอง จนทำให้ฝ่ายทหารกัมพูชาเคยตัว และอ้างความเป็นเจ้าของปราสาทฯ หนักข้อขึ้นทุกวัน โดยพบว่า จุดอ่อน หลายประการ

1. จะทำกิจกรรมอะไร ที่ปราสาท  ทหารไทย ก็บอกทหารกัมพูชา ก่อนด้วย จนกลายเป็นเสมือน การขออนุญาต เพราะพอมีบางเรื่องที่ไม่บอก ทหารกัมพูชา ก็จะมาอ้างสิทธิ์ว่า ทำไม ไม่บอก  แม้แต่การจัดงานบวงสรวงประจำปี ปราสาท ครั้งที่ผ่านมา ก็ต้องบอก แม้จะด้วยเหตุผล เพื่อให้ทหารกัมพูชา แจ้งข่าว นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา ที่จะมาเที่ยวปราสาท ในช่วงนั้น ก็ตาม

2. ทหารกัมพูชา ห้ามไม่ให้ นักท่องเที่ยวไทย  ถ่ายภาพไปทางฝั่งกัมพูชา  และห้ามลงไปตรงทางขึ้นปราสาท จากฝั่งกัมพูชา ไปๆมาๆ  ทหารกัมพูชา ลามมาห้าม ไม่ให้ คนไทย  และยูทูบเบอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ ถ่ายวิดีโอ และห้ามไลฟ์สด   จนที่สุด กลายเป็นข้อตกลงว่า ห้ามทั้ง 2 ฝ่าย   ทั้งๆที่ ปราสาท เป็นของไทย  แต่ทหารกัมพูชา กลับขึ้นมาเดินตรวจตรา สอดส่อง ไม่ให้คนไทย  ถ่ายวิดีโอ  ไปฝั่งกัมพูชา

3. การให้ทหารกัมพูชา 5 คน ชุดประสานงาน  มาอยู่บนปราสาท  กลับกลายเป็น ทำให้ ทหารกัมพูชา รู้สึกและแสดงความเป็นเจ้าของร่วมไปด้วย ดังนั้นฝ่ายทหารไทยจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจว่าการให้ทหารกัมพูชา5 คนขึ้นมาบนปราสาทไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นเจ้าของร่วม

4. ที่หนักสุดคือ  วันที่ กลุ่ม คปท. ไปเยี่ยมให้กำลังใจทหารไทย ที่ปราสาทตาเมือนธม  ฝ่ายทหารไทย ใช้ลำโพงเครื่องขยายเสียง ในการสื่อสาร และพาเที่ยวชมปราสาท  แต่ทหารกัมพูชา กลับมาห้ามไม่ให้ทหารไทย ใช้เครื่องขยายเสียง  จนมีการเผชิญหน้า และทหารกัมพูชาผลักไหล่ทหารไทย แต่ทหารไทย ก็ใจเย็น  เพราะมีคำสั่ง ผู้บังคับบัญชาให้อดทน จนกลายเป็นยอมเสียเปรียบ

5. กองทัพภาคที่ 2 กองกำลังสุรนารี จะต้องเลือกนายทหารไทย ที่มีความเด็ดขาดและมีบุคลิกที่น่าเกรงขามรับผิดชอบพื้นที่ โดยเฉพาะที่ต้องอยู่บนปราสาท ต้องสามารถแสดงออกให้ทหารกัมพูชายำเกรงได้ แม้จะต้องหลีกเลี่ยงการปะทะหรือกระทบกระทั่งก็ตาม

ไม่เช่นนั้นแล้วฝ่ายไทยจะเสียเปรียบในเชิงพฤติกรรมต่อฝ่ายทหารกัมพูชา ที่เอาความเคยชินมากลายเป็นการอ้างสิทธิ์ต่อปราสาท

แม้ว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจะได้หารือกับ พลเอกเตียเซ็ยฮา รองนายกฯและ รมว.กลาโหมกัมพูชา ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทยกัมพูชา(GBC)เมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาตกลงให้มีการถอยกำลังทหารออกจากกัน เพื่อลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้า. โดยให้ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ไปเจรจาตกลงกันในเรื่องการวางกำลังใหม่

ยกเว้นพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมเพราะเป็นพื้นที่ของประเทศไทยและทหารไทยก็ดูแลอยู่ทั้งปราสาทมายาวนาน แต่ด้วยข้อตกลงนี้ จึงทำให้เกิดกระแสข่าวว่านายภูมิธรรม ได้สั่งถอนทหารออกจากปราสาทตาเมือนธม ส่งผลให้ถูกโจมตีอย่างหนัก แม้นายภูมิธรรมและกระทรวงกลาโหมจะแถลงยืนยันว่า นายภูมิธรรมไม่ได้มีคำสั่งให้ถอนทหารออกจากปราสาทตาเมือนธมก็ตาม  แต่ความเชื่อกระแสข่าวแรก ก็สะพัดไปกระจายไปทั่วแล้ว

จนมีการปลุกกระแสฮีโร่ ให้ แม่ทัพกุ้ง พลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาค2 ว่า เป็นแม่ทัพที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งนายภูมิธรรม ที่ให้ถอนทหารออกจากปราสาทตาเมือนธม จนพลโทบุญสิน ต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับนายภูมิธรรม และปฏิบัติตามคำสั่ง  โดยยืนยันว่าทหารไทยไม่ได้ถอนออกจากปราสาทตาเมือนธม ยังคงอยู่ดูแลตามปกติเพราะเป็นพื้นที่ของประเทศไทย

อีกทั้งฝ่ายกัมพูชาเอง ก็ดูจะไม่ตอบสนองกับคำสั่ง “ถอย” ทหารออกจากพื้นที่ แนวเผชิญหน้า เพราะหากทหารกัมพูชา ไม่ยอมถอยกำลังออกไป ทหารไทย ก็ไม่สามารถที่จะถอยออกไปได้เพราะทหารไทย ก็รู้จักทหารกัมพูชาดีว่า หากทหารไทยถอยออกไป ทหารกัมพูชา ก็จะเข้ามายึดพื้นที่ตลอดแนวชายแดนทันที

อย่างไรก็ตาม ทหารไทย พบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ของทหารกัมพูชา ที่มีการเสริมกำลังทหารที่อยู่ใกล้ปราสาทโดนตวล และเขาสัตตะโสม ของไทย เพราะทหารกัมพูชา เสียท่า ทำให้ทหารไทย ยึดพื้นที่ได้ จึงต้องการที่จะเอาคืน มาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านึ้ แม้จะหลายเดือนแล้ว ทหารกัมพูชา ก็ตัดรั้วลวดหนาม ที่ทหารไทยล้อมไว้ และนำกำลังขึ้นมายึดพื้นที่ และตั้งฐานทหาร เสริมกำลังทหาร พร้อมปืนใหญ่ และเตรียมพร้อม เสมือนว่า จะมีปฏิบัติการทางทหาร

แต่ พล.ท.บุญสิน  แม่ทัพภาค 2  ชี้แจงว่า ทหารกัมพูชาได้วางกำลังในบริเวณตรงข้ามปราสาทโดนตวล มานานแล้ว และในห้วงที่ผ่านมามีระดับผู้บังคับบัญชามาเยี่ยม แต่ไม่ได้มีการเพิ่มกำลังเข้ามาใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ทหารไทยก็ยังเตรียมพร้อมที่จะดูแลปกป้องอธิปไตยของไทยในทุกพื้นที่