สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงปู่ภูท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ท่านนับว่าเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)มากองค์หนึ่ง ท่านมีอายุยืนถึง 103 ปี พระที่ท่านสร้างขึ้นนั้นเข้าใจว่าสร้างไว้ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.1463 เรื่อยมาหลายปี จำนวนพระที่สร้างจึงมีมากมายหลายพิมพ์ มูลเหตุในการสร้างพระเครื่องของท่านก็เพื่อหาทุนปฏิสังขรณ์พระศรีอาริยเมตไตรย์ (หลวงพ่อโต วัดอินทร์) ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้ได้เพียงครึ่งองค์ท่านก็มามรณภาพลงเสียก่อน
เนื้อหามวลสารในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวงปู่ภูนั้นก็ได้นำมวลสารผงวิเศษ ห้าประการของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาเป็นส่วนผสมในการสร้างด้วย เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อครั้งที่ท่านมาช่วยสร้างพระเครื่องที่วัดบางขุนพรหม ท่านได้มาพักอยู่ที่วัดอินทร์กับหลวงปู่ภู
พระสมเด็จหลวงปู่ภู มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง เช่น พิมพ์แซยิดแขนหักศอก พิมพ์แซยิดแขนกลม พิมพ์เจ็ดชั้น พิมพ์หูติ่ง พิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก พิมพ์แปดชั้นแขนกลม พิมพ์สามชั้นหูบายศรี พิมพ์ลีลา พิมพ์ปิดตา พิมพ์พระสังกัจจายน์ เป็นต้น
สำหรับ “พระพิมพ์แซยิด” เป็นพระปางที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา องค์พระประธานจึงมีพระวรกายซูบผอม ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐาน 14 ชั้น มีเส้นปิดปลายฐาน ภายในซุ้มครอบแก้ว มีอักขระตัว “อุ” ที่ผนังข้างองค์พระประธานทั้งสองด้าน พระพักตร์รูปไข่ พระเกศเรียวยาวสะบัดพลิ้ว ปลายจรดซุ้ม พระกรรณแสดงลักษณะบายศรีไม่แนบชิดพระพักตร์ พระศอเป็นลำช่วงบนเล็ก ช่วงล่างที่ต่อกับพระอังสาใหญ่เป็นสันหนอก มีจุดสังเกตและหลักการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้
ตำหนิที่ 1 ตัว “อุ” ด้านซ้ายขององค์พระอยู่ชิดพระกัประ (ข้อศอก) ซ้ายมากกว่าด้านขวา
ตำหนิที่ 2 พระกรรณข้างขวาขององค์พระอยู่ห่างจากพระพักตร์มาก กว่าข้างซ้าย
ตำหนิที่ 3 พิมพ์ที่ติดชัดจะเห็นเส้นพระศอ (คอ) แยกเป็น 2 เส้น
ตำหนิที่ 4 พระอังสา (ไหล่) แคบ และด้านซ้ายจะมีติ่งแหลม
ตำหนิที่ 5 ร่องกลางพระอุระ (อก) เป็นสามเหลี่ยมเฉียงลงไปบรรจบด้านล่างตรงกลาง
ตำหนิที่ 6 พระพาหารอบนอกจะดูเป็นรูปหกเหลี่ยม ด้านในเป็นรูปไข่
ตำหนิที่ 7 บริเวณช่องพระพาหาด้านในขวามือขององค์พระมีเส้นแตกขวางสั้นๆ
ตำหนิที่ 8 พระกัประ (ข้อศอก) ขวาขององค์พระลักษณะเป็นมุมแหลม และสูงกว่าด้านซ้ายในขณะที่ข้อศอกข้างซ้ายเป็นเหลี่ยมมุมแหลม
ตำหนิที่ 9 พระเพลา จะมีความหนาบางที่ต่างกัน คล้ายกับว่ามีตุ่มนูน 3 ตุ่ม บริเวณพระชานุ (หัวเข่า) ซ้ายขวาและตรงกลางพระเพลา และจะมีเส้นเชื่อมต่อระหว่างตุ่มทั้ง 3 ตุ่ม ให้เป็นแนวเส้นเดียวกัน กลางพระเพลาจึงดูนูนหนาแอ่นโค้งขึ้นเล็กน้อย
ตำหนิที่ 10 พระชานุด้านซ้ายขององค์พระจะนูนสูงกว่าข้างขวาเล็กน้อย และบริเวณใต้พระชานุด้านขวาจะมีตุ่มยื่นลงมา
ตำหนิที่ 11 ฐานชั้นแรกกับฐานชั้นที่ 2 วางห่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด
ตำหนิที่ 12 มีเนื้อเกินอยู่ระหว่างร่องหัวฐานชั้นที่ 7 กับ 8
ตำหนิที่ 13 ฐานชั้นที่ 10 จะนูนใหญ่กว่าทุกฐาน
ตำหนิที่ 14 เส้นขอบฐานด้านขวา ปลายเรียวแหลม
ตำหนิที่ 15 พื้นผนังด้านล่างทั้งสองข้างยกสูงเป็นเนิน ระดับพื้นภายในลาดเทจากขอบเส้นซุ้มเข้าหาองค์พระพระสมเด็จหลวงปู่ภูที่ได้รับความนิยมมากๆ ก็คือพระสมเด็จ พิมพ์แซยิด แขนหักศอก และพิมพ์แซยิดแขนกลม พระพิมพ์อื่นๆ ก็นิยมรองลงมา ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้น ทรงพุทธคุณเป็นเลิศรอบด้าน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และนิรันตรายนับเป็นพระที่น่าบูชาอย่างยิ่งครับผม