วันที่ 16พ.ค.2568-นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า
ประชุมกรรมการฝ่ายหลักสูตรของ APFinSA
กูรูฟันธงว่า หลักสูตร FChFP เป็นหลักสูตรที่ดีเยี่ยม
เมื่อสามวันก่อน เราจัดให้มีการประชุมของกรรมการ ที่ดูแลหลักสูตรของ APFinSA ผลจากการพูดคุยกัน ทำให้ผมประหลาดใจ
สมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ APFinSA มีหลักสูตร FChFP ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน มีประเทศสมาชิกที่นำหลักสูตรนี้ไปเปิดใช้แล้ว เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
APFinSA มีการแต่งตั้งกรรมการฝ่ายหลักสูตรจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ตื่นตัวในการทำงาน ตั้งชื่อกรรมการชุดนี้ว่า International Certificate and Standard Board (ICSB)
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีความตื่นตัวในการเรียนหลักสูตรนี้ จึงมีกรรมการมากเป็นพิเศษ ถึง 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์มงคล ลุสัมฤทธิ์ อาจารย์กฤษณ์ วณิชเดโชชัย และตัวผมเอง อาจารย์บรรยง วิทยวีรศักดิ์
นอกจากนั้น เรายังมีกรรมการฝ่ายประมวลผล (Examination Board) ได้แก่อาจารย์ชวลิต ลีลาภรณ์ ที่เป็นทั้งผู้สอนและคอยติวนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
ตามปกติ เมื่อเราเจอกัน ก็มีคุยกันเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรบ้าง แต่ไม่เป็นกิจลักษณะ เมื่อครบหนึ่งปี ที่เรากำลังจะมีประชุมสามัญประจำปีของ APFinSA ผมจึงคิดว่ากรรมการฝ่ายหลักสูตรควรจะมานั่งปรึกษากันบ้าง ว่าหลักสูตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ผมตั้งโจทย์ให้กับกรรมการในทีมว่า หลักสูตร FChFP ที่เราใช้สอนในเมืองไทยนี้ ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว ควรจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมา เราค่อยๆมีการปรับแก้เป็นระยะ ให้มันยากขึ้น
เช่น เวลาวัดผล เราให้กรณีศึกษาไปอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันสอบ เราก็ขอแก้เงินเดือนของลูกค้า แก้อัตราเงินเฟ้อ แก้ตัวเลขทรัพย์สิน/หนี้สิน เพื่อดูว่านักศึกษาของเราจะสามารถทำโจทย์ได้ไหม ไม่ใช่แค่ลอกจากกรณีตัวอย่างไปตอบโดยไม่มีความรู้จริง
ผมเคยคิดว่า มันอาจจะต้องถึงเวลา ที่จะทำให้มันยากขึ้น เช่น การเก็บเงินเพื่อเกษียณ ก็ควรจะเก็บมากขึ้นในแต่ละปี ไม่ใช่เก็บในจำนวนคงที่เท่าเดิม เพราะเงินเดือนรายได้ของแต่ละคน ก็ควรสูงขึ้น เป็นลักษณะเก็บเงินเพิ่มขึ้น คล้ายกับสูตรของการสะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แต่ประเด็นคือ ทุกวันนี้ขนาดข้อสอบที่เรามีอย่างนี้ นักศึกษาหลายคนก็ทำไม่ได้ โดยเฉพาะนักศึกษาในต่างจังหวัด ซึ่งมักจะตกมากกว่าครึ่งอยู่เสมอ ผมจึงต้องการความคิดเห็นจากอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านว่า เราควรจะปรับเนื้อหาหรือไม่ อย่างไร
ปรากฏว่าอาจารย์มงคลให้ความเห็นว่า เนื้อหาในหลักสูตรเราดีมาก สามารถคำนวณเป้าหมายการเกษียณอายุได้ชัดเจน สามารถตอบได้ว่า ทุนประกันที่ลูกค้าควรมีนี้ ควรจะมีเท่าไหร่ เพื่อเพียงพอให้ครอบครัวใช้ตามความจำเป็นในชีวิตจริง ดังนั้น ตัวเนื้อหาของเราดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแก้
สิ่งที่ต้องแก้คือ ภาพลักษณ์ของหลักสูตร เนื่องจากเราไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์มาหลายปีแล้ว ทำให้ตัวแทนประกันชีวิตรุ่นใหม่ไม่รู้จัก
ไม่ต้องพูดถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่รู้จักหลักสูตร FChFP แต่ไปรู้จักอีกหลักสูตรหนึ่ง ลูกค้าก็จะถามว่า คุณตัวแทนจบหลักสูตรนั้นมาหรือเปล่า ทั้งที่เราเชื่อว่าหลักสูตรของเราดีกว่า ใช้ได้จริงสำหรับผู้ปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม
ดังนั้น ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ที่ดี ก็ควรมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วย เพราะประชาชนผู้ใช้บริการก็มีส่วนในการเรียกร้องความมั่นใจ โดยการร้องขอให้เราแสดงหลักฐานว่าเรามีความรู้จริง
หลังจากที่คุณมงคลแสดงความคิดเห็นแล้ว ทั้งอาจารย์กฤษณ์ และอาจารย์ชวลิตก็เห็นด้วย ไปในแนวทางเดียวกันว่า ชีวิตจริงในการทำงาน หลักสูตรของเราตอบโจทย์ได้มากกว่า สามารถคำนวณตัวเลขให้เห็นจริง จับต้องได้ ไม่ใช่เก่งแต่ทฤษฎี รู้ค่าสัมประสิทธิ์ แต่ไม่สามารถใช้อธิบายได้ ทั้งแบบอย่างง่ายและอย่างซับซ้อน
ซึ่งผมในฐานะพี่ใหญ่ และเป็นกรรมการบอร์ดของ APFinSA ก็รับโจทย์เพื่อนำเสนอให้กับประธานสมาคมคนใหม่ เพื่อจะปรับปรุงแก้ไขต่อไป
บทสรุปของการประชุมครั้งนี้ ได้ความว่า หลักสูตร FChFP ของ APFinSA ที่ร่วมมือกับสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) นำมาเปิดสอนนั้น เป็นหลักสูตรที่ดีเยี่ยม มีคุณภาพ เพียงต้องปรับแก้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักมากขึ้น
เพราะไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะดีอย่างไร ถ้าคนไม่รู้จัก มันก็ไม่สามารถที่จะขายได้ หรือเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้ครับ