วันที่ 16 พ.ค.68 สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน จัดประชุมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การจัดทำแผนที่ดินเชิงเลขด้วยข้อมูลค่าการนำไฟฟ้าของดิน และภาพถ่ายโดรน สำหรับการประเมินสมบัติดิน โดยมี ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน ดร.สมศักดิ์ สุขจันทร์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน เข้าร่วมเป็นเกียรติ ในกิจกรรม และรับฟังการนำเสนอข้อมูลของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม อภิปราย และถามตอบ ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการเกษตร นักสำรวจดิน นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการบรรยายพิเศษโดยเหล่าวิทยากร Dr. John Triantafilis Portfolio Leader: Manaaki Whenua Landcare Research, New Zealand, Dr. Dongxue Zhao, Dr. Jie Wang, Dr. Ehsan Zare และ ดร.ธิเบต คงนาวัง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงคราม

ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 153 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็ม 17.8 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 11.1% พื้นที่ดินเค็มแบ่งเป็นสองส่วน 1.ดินเค็มบก ได้รับผลกระทบจากคราบเกลือ 2.ดินเค็มชายทะเล ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลท่วมถึง สภาพดินเค็มดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหากับเกษตรกร กรมพัฒนาที่ดินจึงมีเทคโนโลยีใช้ในการสำรวจพื้นที่ดินเค็ม พัฒนาเรื่องการตรวจสภาพพื้นที่ดินเค็ม อย่างต่อเนื่องมายาวนาน โดยครั้งนี้มีการจัดฝึกอบรม ตามหลักสูตร “การจัดทำแผนที่ดินเชิงเลขด้วยข้อมูลค่าการนำไฟฟ้าของดิน และภาพถ่ายโดรน สำหรับการประเมินสมบัติดิน” ถือเป็นการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการจัดทำข้อมูลดิน ให้ได้เรียนรู้เพิ่มพูนประสบการณ์ สามารถนำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดหาไว้ ไม่ว่าจะเป็น DualEM-21S และ EM38 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาโดยต่างประเทศ และมีวิทยากรจากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาให้องค์ความรู้ เพื่อการตรวจวัดดิน ให้เกิดการทำแผนที่ดิน อย่างถูกต้องและแม่นยำ เป็นการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ดินเค็ม เพิ่มประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อการจัดการดินและปุ๋ย ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็ม 

ผู้เข้าฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้นำเสนอผลงาน จากการศึกษาการใช้เครื่องมือ วิธีการกำหนดจำนวนตัวอย่าง และวิธีสุ่มตัวอย่าง การเตรียมข้อมูล EMI ที่ได้จากเครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือ และการประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่สมบัติดินเชิงเลขจากการลงพื้นที่ดินเค็ม และผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทุกท่านได้รับใบประกาศนียบัตรจากการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการจัดทำแผนที่ดินเชิงเลขในพื้นที่ดินเค็มให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมถึงฝึกทักษะการใช้เครื่องมือวัดค่าการนำไฟฟ้าแม่เหล็ก (EMI) เช่น DualEM-21S, DualEM-1S และ EM38 ในการเก็บข้อมูลสนามอย่างถูกต้อง ตลอดจนเรียนรู้การประมวลผลข้อมูลด้วยซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น JMP, EM4Soil และ Rstudio

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรผู้ที่มีปัญหาด้านดินเค็ม โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 สถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น, สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม, สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ หรือสถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านท่าน โดยท่านจะได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ดิน วิธีการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ หรือการปลูกพืชให้มีความเหมาะสมต่อระดับความเข้มของพื้นที่ที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งส่งเสริมความมั่นคง อย่างยั่งยืนต่อไป