ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
สงครามชีวิตนั้นยิ่งใหญ่กว่าสงครามใด ๆ โดยเฉพาะสงครามที่ต้องต่อสู้อย่างเดียวดาย
ในสงครามอินโดจีนที่ได้ลุกลามต่อเนื่องจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา (ที่เริ่มต้นจากญี่ปุ่นได้ประกาศเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียใน พ.ศ. 2480 โดยสามารถยึดจีน แมนจูเรีย และคาบสมุทรเกาหลีไว้ได้ ต่อมาก็แผ่ขยายอำนาจเข้ามายังอินโดจีน และยุยงให้ประเทศแถบนี้ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศไทยที่เคยเสียดินแดนให้กับฝรั่งสองชาตินั้นด้วย ด้วยสโลแกนว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" (Asia for Asiatics) หรือที่เรียกว่า "การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกและการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" (New order in East Asia and the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) แต่เรียกในภาษาไทยสั้น ๆ ว่า “มหาเอเชียบูรพา”) โดยประเทศไทยเริ่มเข้าร่วมสงครามใน พ.ศ. 2482 และในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้ววันรุ่งขึ้นรัฐบาลไทยก็ได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานทัพเพื่อเดินทางเข้าไปในพม่าและอินเดีย จึงเสมือนว่าไทยได้เสียเอกราชให้กับญี่ปุ่นแล้ว แต่ก็มี “ขบวนการเสรีไทย” ประกาศไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น และใช้แนวร่วมในต่างประเทศเข้าต่อสู้ จนกระทั่งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรและสิ้นสุดสงครามโลกครั้งทรี่ 2 ใน พ.ศ. 2488 ไทยจึงได้เป็นอิสระและได้รับยอมรับว่าไม่ได้เสียเอกราชใด ๆ
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าให้ฟัง ในช่วงท้าย ๆ ของสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่านได้รับการเลื่อนยศเป็น “สิบตรี” ในตำแหน่ง “จ่ากองร้อย” แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นพลาธิการ แจกจ่ายเสื้อผ้า หยูกยา และอาหาร ให้กับกำลังพลเช่นเดิม ตอนนั้นได้บุกไปถึงเชียงตุง กำลังจะบุกไปที่เชียงรุ้ง ก็ได้รับโทรเลขจากกองทัพส่วนกลางว่าให้ยกทัพกลับ (ซึ่งท่านก็จำไม่ได้ว่าด้วยเหตุผลใด คล้าย ๆ กับว่าสงครามจบแล้ว แต่ความจริงคือญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองพื้นที่หลาย ๆ ส่วนทางภาคใต้ และทหารในภูมิภาคอื่น ๆ ต้องลงไปช่วยป้องกันกรุงเทพฯ) กองทัพพายัพในส่วนของท่านที่กำลังบุกอยู่ทางใต้ของจีนก็เกิด “แตกทัพ” ทันที
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงเหตุการณ์ “แตกทัพ” ด้วยอารมณ์ขัน ท่านบอกว่าตอนที่ท่านกลับจากเชียงตุงก็ลำบากมาก เพราะพื้นที่เต็มไปด้วยป่าทึบและภูเขาสูง แถมรถยนต์ที่พาขึ้นไปที่เชียงตุงก็มาส่งไม่ได้เพราะไม่มีน้ำมัน ต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเกวียนบ้าง นั่งช้างบ้าง มาจนถึงเชียงใหม่ พอขึ้นรถไฟที่เชียงใหม่เพื่อจะกลับกรุงเทพฯ (ตอนนั้นครอบครัวของท่าน คือภรรยาและลูกทั้งสองได้ล่วงหน้ากลับไปอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว) รถไฟก็วิ่งไม่ได้บางช่วง ต้องลงจากรถไฟแล้วเดินเท้าไปต่อรถไฟอีกสถานีหนึ่งอยู่หลายครั้ง ในอาการที่ทหารร่วมทัพบางคนบอกว่า “นี่แหละคือนับหมอนรถไฟกลับบ้าน” แต่ท่านก็นึกไปถึง “ขุนแผน” ที่ต้องออกศึกเชียงใหม่และได้ตกระกำลำบากอยู่ในป่าระหว่างทางยกทัพมาทางภาคเหนือ รวมทั้งที่นึกถึงสภาพของกองทหารที่แตกกระสานซ่านเซ็น แบบที่ภาษาในวรรณคดีใช้คำว่า “หนียะย่าย พ่ายจะแจ” แล้วท่านก็หัวเราะ
ในกรุงเทพฯตอนนั้นก็วุ่นวายมาก ๆ ทุกคนกลัวสงครามมาก ๆ คนที่มีเงินก็อพยพครอบครัวไปหาที่อยู่ตามชานเมืองหรือไม่ก็ต่างจังหวัด พื้นที่ที่มีคนชอบไปอยู่ก็คือ “ทุ่งบางกะปิ” เพราะมีถนนสุขุมวิทสร้างออกไปทางภาคตะวันออก รวมถึงบริเวณสาธรที่ยังเป็นทุ่งนาและสวนผัก แต่ก็มีถนนจากแยกวิทยุข้างสวนลุมพินี ตัดเลียบแนวคลองสาธร (ชื่อเดิมคือคลองพ่อยม เพราะพ่อยมคือคนที่มาขุดคลองนี้ แล้วเอาดินมาทำเป็นถนนและถมที่เป็นโรงงาน ให้ฝรั่งและพ่อค้าคนจีนทำโรงสี โดยใช้เครื่องสีข้าวพลังกังหันลม เรียกสั้น ๆ ว่า “สีลม” อันเป็นชื่อของถนนอีกเส้นหนึ่งที่ขนานกับคลองสาธรทางด้านทิศเหนือ) ไปเชื่อมกับถนนเจริญกรุงที่บางรัก ที่ดินบนถนนเลียบคลองด้านเหนือเป็นโรงงานและบ้านนายห้างฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนด้านใต้เป็นสวนผักนานาชนิด ที่พวกคนจีนมาปลูกกันไว้ ที่มีมากก็คือ “พลู” (คนสมัยก่อนใช้เคี้ยวร่วมกับหมาก ปูน และยาสูบ เรียกรวมกันว่า “หมากพลู”) บริเวณทางเข้าสวนที่เชื่อมกับถนนสาธรใต้นี้เป็นตลาดและชุมชนขนาดเล็ก ๆ เรียกว่า “ซอยสวนพลู” พี่สาวของท่านคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (แต่งงานกับพระพินิจชนคดี อธิบดีกรมตำรวจในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ได้มาซื้อที่ดินไว้จำนวนหนึ่งประมาณ 20 ไร่ แล้วทำทางจากซอยสวนพลูเข้ามาในเขตที่ดิน (ต่อมาทางราชการตั้งชื่อซอยนี้ว่า “ซอยพระพินิจ” ปัจจุบันได้เชื่อมต่อกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จึงเปลี่ยนชื่อตามถนนนี้ว่า “ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7”) โดยในซอยที่ตัดใหม่นี้ยังมีที่ดินคนดัง ๆ ในยุคนั้นอีกมาก ที่พอจำได้ก็คือพวกตระกูล “ฮุนตระกูล” และ “ยิบอินซอย” เป็นอาทิ
ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช หรือ “คุณตั้ม” บุตรคนโตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ป้าบุญรับ” ได้ดูแลคุณแม่และลูก ๆ สองคนของน้องชาย(ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์)นั้นเป็นอย่างดี โดยเช่าบ้านให้อยู่บริเวณหน้าซอยพระพินิจปากซอยสวนพลู ด้านตรงข้ามบ้านที่อยู่ยังเป็นทุ่งนาเวิ้งว้าง (ปัจจุบันคือสถานทูตออสเตรเลีย) ยังเห็นควายเป็นฝูงของชาวนามาเล็มหญ้ากินตามคันนาอยู่ทุกวัน ตอนนั้นเป็นช่วงสงคราม รถยนต์ใช้น้ำมันเป็นของหายาก ป้าบุญรับก็ซื้อรถถีบสามล้อและจ้างคนมาถีบคอยรับส่งไปโรงเรียน จนเมื่อสงครามสงบจึงได้ซื้อรถนั่งให้ใช้ โดยไว้รับส่งคุณตั้มและคุณแต้ม (ม.ล.วิสุมิตรา น้องสาว) ไปกลับยังโรงเรียน พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลับมากรุงเทพฯหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้งานทำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้รับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปกลับยังที่ทำงานนั้นด้วย รถคันแรกเป็นรถจี๊ปซื้อต่อมาจากทหารอเมริกัน และคันต่อมาเป็นรถเก๋งก็ยังเป็นรถอเมริกัน เพราะตอนนั้นรถญี่ปุ่นยังไม่มีเข้ามาขาย และรถยุโรปก็ยังเข้ามาไม่ได้เพราะอยู่ในช่วงสงคราม ม.ล.รองฤทธิ์เล่าอีกด้วยว่า ชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างยากลำบาก กระนั้นที่บ้านเช่าปากซอยพระพินิจที่อยู่กัน ๔ คนนี้ ก็ถือว่าไม่แร้นแค้นนัก เพราะมีคุณป้าบุญรับคอยดูแลเป็นอย่างดีดังกล่าว ทั้งข้าวปลาอาหารและหยูกยาสารพัด ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่อาจจะหาได้แบบนั้น กระนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันประหยัด เพราะข้าวของเหล่านั้นมีราคาแพงกว่าปกติหลายเท่า รวมถึงก็ยังหายาก แม้แต่ผักปลาและผลไม้ก็ไม่ได้หาซื้อได้ง่าย ๆ ยิ่งเป็นข้าวสารด้วยแล้วก็มีการกักตุนกันมาก จนถือได้ว่าเป็น “ของล้ำค่า” อย่างยิ่งในสมัยนั้น
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้เช่นกันว่า แม้จะลำบากแต่ก็ไม่ได้หวาดกลัวอะไรมากนัก เพราะท่านได้รับข่าวสารของสงครามอย่างใกล้ชิดผ่านข่าวสารของทางราชการทั้งไทยและต่างประเทศ จึงพอทราบว่าสงครามส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ที่มีการทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯตรงนั้นตรงนี้บ้าง ก็เป็นการโจมตีของสัมพันธมิตรที่ทำลายเป้าหมายกองกำลังของญี่ปุ่นและเส้นทางคมนาคมที่ญี่ปุ่นใช้ ส่วนกองกำลังของญี่ปุ่นก็ได้แต่ป้องกันและโต้ตอบบ้างเล็ก ๆ น้อย จะมีที่เกี่ยวข้องกับท่านโดยตรงก็คือตอนนั้นญี่ปุ่นมาบังคับให้ไทยพิมพ์ธนบัตรให้ญี่ปุ่น ตอนนั้นท่านรักษาการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกบัตร(คือฝ่ายพิมพ์ธนบัตรนั่นเอง)ของธนาคารแห่งประเทศไทย กระดาษสำหรับพิมพ์ธนบัตรนั้นหายากและส่งจากต่างประเทศไม่ได้ ท่านจึงเสนอความคิดให้เอาธนบัตรเก่าของไทยหมุนเวียนกลับเข้ามาพิมพ์ประทับข้อความใหม่เป็นราคาเงินเยน แต่ด้วยความที่กองทัพญี่ปุ่นต้องใช้เงินมาซื้อข้าวของเป็นจำนวนมาก การพิมพ์ธนบัตรจึงต้องทำทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงอย่างติดตลกว่า “ต้องเหนื่อยกันทั้งคนทั้งเครื่องจักรทั้งวันทั้งคืน”
สงครามชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีหลายรสชาติ ซึ่งท่านใช้อารมณ์ขันร้องออกมาเป็นเพลงฮิตในยุคก่อนว่า “ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน ... และขมขื่น”