เมื่อ 16 พ.ค.68 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Panitan Wattanayagorn" ระบุว่า Jonathan Nicholas Powell คนที่พูดคุยกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลกกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
1. Jonathan Powell เป็นใคร
- นาย Powell (อายุ 68 ปี) เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ แต่งตั้งโดยนรม.อังกฤษ Keir Starmer เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง" (National Security Advisor - NSA) ซึ่งเป็นตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เพื่อดูแลนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอังกฤษ รวมทั้งเรื่องการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
- นาย Powell เริ่มอาชีพเป็นนักข่าว แล้วไปเป็นนักการทูตอยู่หลายปี เคยอยู่ในทีมเจรจาคืนเกาะฮ่องกงให้จีนในช่วงปีค.ศ.1983-85 ทีมเจรจารวมประเทศเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออกในปีค.ศ.1989-90 และทีมการเจรจาควบคุมอาวุธกับสหภาพโซเวียตก่อนสิ้นสุดยุคสงครามเย็น
- นาย Powell ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี Tony Blair เกือบตลอดสมัยระหว่างปีค.ศ.1997-2007 และเป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาสันติภาพ Northern Ireland ในช่วงเดียวกัน มีบทบาทสำคัญในการร่างข้อตกลงยุติการสู้รบกับ Irish Republican Army (IRA) ที่รู้จักกันในชื่อ the Good Friday Agreement of 1998
- นาย Powel เขียนหนังสือชื่อ Talking to Terrorists: How to end armed conflicts (2015) เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดของตนในเรื่องการเจรจาสันติภาพ เคยเป็นอาจารย์สอนด้านความมั่นคงในมหาวิทยาลัย และเป็นที่รู้จักกันดีในเวทีนานาชาติ
2. Jonathan Powell สำคัญอย่างไร
- ผู้สื่อข่าวหลายสำนักชี้ว่าระหว่างที่ทำงานให้นรม. Blair นาย Powell มีบทบาทสำคัญแทบทุกเรื่องในด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ แต่ไม่ชอบเปิดเผยตัวตนหรือบทบาทของตนเอง
- สัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และประเทศในกลุ่ม "พันธมิตรร่วมสมัครใจ" (Coalition of the Willing) ร่วมกันกดดันและยื่นคำขาดให้รัสเซียเจรจาหยุดยิงกับยูเครน ปธน.ปูตินจึงได้เสนอให้มีการเจรจากันโดยตรงเป็นครั้งแรกที่กรุง Istanbul ในวันพฤหัสที่ 15 พ.ค.นี้ (โดยตัวแทนผู้นำระดับสูง)
- ผู้สื่อข่าว The Guardian ชี้ว่านาย Powell แทบจะเป็นคนเดียวที่กำหนดท่าทีด้านต่างประเทศให้รัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ขัดแย้งกับปธน.เซเลนสกี้ที่ทำเนียบขาวและไม่สามารถกดดันปธน.ปูตินให้ยุติสงครามได้ (อ้าง The Guardian, อ่านรายละเอียดได้ตาม link ที่อยู่ใน Comment #1 ครับ)
- ในปี 2011 นาย Powell ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเจรจายุติความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกาและเอเชีย
- นาย Powell เคยเสนอให้รัฐบาลประเทศตะวันตกพูดคุยกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์และตาลีบัน และเคยเข้าไปช่วยเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการร้ายให้กับรัฐบาลโคลัมเบีย ศรีลังกา และปาเลสไตน์
-ในปีค.ศ. 2014 นาย Powell ได้รับการแต่งตั้งโดยนรม. David Cameron ให้เป็นผู้แทนพิเศษไปเจรจากับลิเบีย และในปีค.ศ. 2024 ก่อนได้รับตำแหน่ง NSA นาย Powell เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของอังกฤษในการคืนหมู่เกาะ Chagos ซึ่งเป็นอาณานิคมสุดท้ายของอังกฤษในอัฟริกาให้กับประเทศ Mauritius
3. Jonathan Powell กับความขัดแย้งในจชต.
- นาย Powell มาเมืองไทยหลายครั้งและเคยเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
- ในระหว่างที่นาย Powell เป็นอาจารย์และทำงานมูลนิธินั้นเมื่อหลายปีก่อนนั้น ได้เคยให้คำแนะนำกับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจชต. โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่นาย Powell มีความชำนาญและมีประสบการณ์มาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี
- นาย Powell เคยมีความเห็นว่า ไทยมีนโยบายถูกต้องแล้วที่ตัดสินใจคุยกับ BRN และมองว่าเป็นการ "เดินมาถูกทาง" เพราะกลุ่มติดอาวุธคงไม่สามารถต่อสู้ด้วยการใช้กำลังได้ตลอดไป เราจึงเห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" แล้ว
- แต่นาย Powell ติงว่าไทยยังไม่มีแผนการเจรจา (roadmap) ที่ชัดเจนและเป็นระบบ จึงได้เสนอให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ (แต่ภายหลังฝ่ายไทยและ BRN มีการจัดทำ roadmap ขึ้นเองในปีค.ศ. 2019 เรียกกันว่า Berlin Initiative)
- ในปีค.ศ. 2022 ฝ่าย BRN ได้เชิญนาย Powell เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุยเจรจากับฝ่ายไทยระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และนาย Powell ก็ได้เป็นหนึ่งใน 5 ของผู้สังเกตการณ์ต่างชาติในการพูดคุยดังกล่าว (อ้าง Crisis Group, อ่านรายละเอียดใน Comment #2)
- ต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2024 นาย Powell ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของผู้สังเกตการณ์ว่า "แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม" (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ที่บางฝ่ายคัดค้านนั้น อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย และเป็นข้อตกลงของไทยกับ BRN (มีข้อสังเกตของบางฝ่ายว่าร่าง JCPP ดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะทหารจะต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ หรือปรับลดกำลังลง รวมทั้งยุบเลิกด่านตรวจในพื้นที่ด้วย อ่านรายละเอียดใน Comment #3)
4. โดยสรุป การเข้ามามีส่วนร่วมของนาย Jonathan Powell ในเรื่องจชต. นั้น ทำให้เราเห็นได้ว่า:
1) ปัญหาจชต.เป็นเรื่องในระดับสากลไปแล้ว เหตุเพราะมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน รวมทั้งก่อนหน้านี้ที่มีบางประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ยังไม่นับองค์การสากล เช่น UN หรือ OIC หรือคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และองค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติอีกหลายองค์กร เช่น Centre for Humanitarian Dialogue (ที่เรียกกันว่า Henry Dunant Centre for Humanitarian Dialogue หรือ HD), Geneva Call, Crisis Group รวมทั้งสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น RAND Corporation หรือ RSIS ของสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันต่างก็มีตัวแทนลงพื้นที่จชต.กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูล จัดทำ รายงาน ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ และนำเสนอทางเลือกให้กับสาธารณะอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
2) แม้ว่าในปัจจุบันนาย Powell อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาเรื่องจชต.อย่างเช่นที่ผ่านมา แต่การมีส่วนร่วมของนาย Powell ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายเป็นอย่างยิ่ง อาจจะไม่เป็นผลดีต่อไทยเสมอไป ดังเช่นในกรณี JCPP ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และ
3) ไทยจึงควรยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่ของเราอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในเรื่องการต่างประเทศและการเจรจาต่อรอง ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองทัพหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจชต.ให้ดีขึ้น
รวมทั้งควรมีการแต่งตั้ง "ที่ปรึกษาของสมช." (ตามกฏหมายใหม่ที่แก้ไขแล้ว) จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการเจรจาระดับนานาชาติ เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาจชต. แทนที่จะแต่งตั้งข้าราชการประจำในระดับปฏิบัติจำนวนมากอย่างเช่นในอดีต
การยกระดับงานด้านการต่างประเทศของจชต. จะทำให้ไทยไม่เสียเปรียบในการเจรจา หรือไม่ถูกแทรกแซงจากต่างชาติได้ง่าย ๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะสุดท้ายแล้ว จะไม่มีใครสามารถรับประกันหรือยืนยันได้ว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการพูดคุยเจรจาเรื่องจชต.นั้น จะยึดเอาผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ
Good luck Thailand!