นายกฯมั่นใจ ทีมไทยแลนด์ พร้อมเจรจา กำแพงภาษีทรัมป์ หลังสัญญาณ"สหรัฐฯ"ตอบรับดีเยี่ยม เชื่อการเจรจาจะเป็นผลดีกับประเทศ พิษภาษีทรัมป์ ทำดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเม.ย.ลดต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำสุดรอบ 7 เดือน 
       
        เมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการเดินทางไปประชุมที่เวียดนาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจากำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาพิจารณาข้อมูลที่เตรียมการไว้ รวมทั้งให้ติดตามสาระสำคัญ ที่มีการพูดถึงการเจรจาของแต่ละประเทศในเวทีการประชุมการลงทุนซาอุดีฯ - สหรัฐฯ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า นายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Mr. Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงหลายประเทศในยุโรป และเอเชีย ที่ได้มีการส่งข้อเสนอเพื่อขอเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งการเจรจากับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในเอเชีย เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิผล
       
  โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเทศไทย ว่า การพูดคุยกับประเทศไทยนั้น ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมชื่นชมว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้นำเสนอแนวคิดริเริ่มที่โดดเด่น
       
  ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยังย้ำว่า การเจรจาการค้าที่มีพัฒนาการร่วมกับญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน พร้อมชื่นชมไทย ต่อการริเริ่มข้อเสนอที่น่าประทับใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะนำไปสู่การเจรจาที่มีประสิทธิผล
      
 "นับเป็นสัญญาณบวกของประเทศไทย จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของทีมไทยแลนด์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐฯ ที่ให้เน้นความรอบคอบ ครบถ้วน และจังหวะเวลาที่ถูกเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนการค้า ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ ควบคู่กับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัย แข่งขันได้และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น"
         
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า การทำงานของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เตรียมการมาตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประสานและผลักดันการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามทุกประเด็นในการเตรียมความพร้อม และให้ทีมศึกษาข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆ รวมไปถึงการหารือระหว่างสหรัฐฯ กับ ประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
     
    ด้าน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2568 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา  เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงไตรสมาสแรกของปีนี้แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
     
    ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.3 53.0 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 50.5 54.2 และ 64.4 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
      
   ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.7 เป็น 55.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา  การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
      
   ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.8 เป็น 39.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 64.4 มาอยู่ที่ระดับ 62.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่า ผู้บริโภคอาจเริ่มมีความเชื่อมั่นของบริโภคลดลงได้ในอนาคตหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเศรษฐกิจไม่สามารถจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล