วันที่ 15 พ.ค.68 นายนิสิต สวัสดิเทพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานการประชุม หารือ แลกเปลี่ยน และติดตามความก้าวหน้าของโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีคุณนีฟ คอลิเออร์ -สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย พร้อมคณะทำงาน และนายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เข้าร่วมประชุมฯ ณ สำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่​ 1.ติดตามความก้าวหน้าของโครงการและกำหนดแนวทางการดำเนินงานในระยะถัดไป​ 2.ตรวจสอบสถานะการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเหมืองช้าง ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการ​ 3.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและเกษตรกรรมให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

จากนั้นในช่วงบ่าย คณะทำงานได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเหมืองช้าง ณ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งโครงการทั้ง 2 แห่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund – GCF) โดยความคืบหน้าล่าสุด (ณ วันที่ 14 พ.ค.68) พบว่า​ ประตูระบายน้ำคลองเหมืองช้าง แห่งที่ 1 (กม.9+370) มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 59.20 ประตูระบายน้ำคลองเหมืองช้าง แห่งที่ 2 (กม.17+766) มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 36.05 คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2568 เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำยมน่าน นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการยังมีการดำเนินงานด้านอื่นควบคู่กัน อาทิ การติดตั้งระบบตรวจวัดอากาศและคาดการณ์น้ำ การพัฒนาแนวทางการแบ่งปันข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาผ่านระบบ SOP การส่งเสริมแนวทาง ปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) การจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ 24 ตำบลใน 3 จังหวัด พร้อมนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (IoT) มาใช้ในการเรียนรู้ของเกษตรกร

ทั้งนี้ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาระดับพื้นที่ แต่ยังมีศักยภาพในการต่อยอดสู่ระดับนโยบายในอนาคต

การประชุมและลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคชุมชน ที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการน้ำและการเกษตรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน