เข้าสู่ช่วงท้ายตารางของกำหนดการเดินทางเยือน 3 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา

โดยตามกำหนดการ ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เริ่มเยือนตั้งแต่วันอังคารที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจุดหมายปลายทาง ก็มี 3 ประเทศด้วยกัน ที่ผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือน ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี

ในการเดินทางเยือนข้างต้น ก็ยังถือว่า เป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของนายทรัมป์ ซึ่งได้ประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการเดินทางเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ต้องบอกว่า “ธีโอดอร์ รูสเวลท์” ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางเยือนต่างประเทศ โดยประเทศที่ประธานาธิบดีรูสเวลท์ เดินทางไปเยือนก็คือ “ประเทศปานามา” นั่นเอง เมื่อปี 1906 (พ.ศ. 2449) หรือหลังจากเริ่มขุด “คลองปานามา” มาได้ 3 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยคลองปานามามาขุดเสร็จเอาเมื่อปี 1914 (พ.ศ. 2457) ก่อกำเนิดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในย่านคอนคาเคฟ และละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ นับตั้งแต่นั้น

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาหลังจากนั้น หรือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็มักจะเดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคยุโรปเป็นแห่งแรก นอกเหนือไปจากแคนาดา ประเทศเพื่อนบ้าน แบบบ้านใกล้เรือนเคียงของสหรัฐฯ

โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคยุโรปเป็นคนแรก ก็คือ “วูดโรว์ วิลสัน” ส่วนประเทศที่เดินทางไปเยือน ก็คือ “ฝรั่งเศส” ซึ่งมีภารกิจร่วม “การประชุมสันติภาพปารีส” ที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อปี 1919 (พ.ศ. 2462) ในฐานะผู้นำพันธมิตรชาติผู้ชนะสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 1

กล่าวกันว่า ประเทศในทวีปยุโรปที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็คือฝรั่งเศสนี่เอง โดยมีจำนวนครั้ง ถึง 41 ครั้ง เท่ากับแคนาดา และมากกว่า “อังกฤษ” ที่จำนวนการเดินทางเยือน 36 ครั้ง โดยมีอดีตประธานาธิบดีวิลสันเป็นผู้บุกเบิกเยือนถิ่นน้ำหอมเป็นคนแรก

กระทั่งมาถึงยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปรากฏว่า ก็ได้เปลี่ยนไปแบบชนิด “แหวกธรรมเนียม” กันเลยทีเดียว ที่ผู้นำมักจะเดินทางเยือนแคนาดา เม็กซิโก หรือไม่ก็ประเทศในภูมิภาคยุโรปเป็นทริปแรก

โดยในการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ระหว่างช่วงปี 2017 – 2021 (พ.ศ. 2560 – 2564) ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เลือกที่จะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศ ในระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2017 (พ.ศ. 2560) ก่อนจะต่อด้วยอิสราเอล และปาเลสไตน์ อีก 2 – 3 วันถัดมาจากนั้น แล้วจึงจะไปประเทศในยุโรปในอีกหลายวันต่อๆ มา เริ่มอิตาลี นครรัฐวาติกัน และเบลเยียม

เช่นเดียวกับการเดินทางเยือนต่างประเทศในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของนายทรัมป์ ก็ยังคงเลือกกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือดินแดนอาหรับ เป็นจุดหมายปลายทางแรกหลังรับตำแหน่งได้ไม่ถึง 4 เดือนดี

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เปิดพระราชวังในกรุงริยาด ต้อนรับการเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ (Photo : AFP)

โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เลือก 3 ประเทศตามที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นทริปแรก โดยไม่นับการเดินทางเยือนนครรัฐวาติกัน เพราะเป็นการเดินทางไปอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากไปร่วมพระพิธีศพของสันตะปาปา หรือโป๊ป ฟรานซิส ที่สิ้นพระชนม์ไปอย่างกระทันหัน นั่นเอง

บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ เลือกตระเวนเยือน 3 ประเทศดังกล่าว ก็มีหมุดหมายหลายประการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ รวมไปถึงเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางให้เดินหน้าไป ซึ่งทั้ง 3 ประเทศที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะเดินทางไปเยือนข้างต้น ก็ถือเป็นประเทศกระเป๋าหนัก คือ ร่ำรวยมิใช่น้อยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ พบปะกับชีค ตามิม บิน ฮาหมัด อัลทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ระหว่างเดินทางเยือนกาตาร์ (Photo : AFP)

โดยเหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการเม็ดเงินจาก 3 ประเทศเศรษฐีใหญ่ในตะวันออกกลางให้มาลงทุนในสหรัฐฯ หลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เคยเปิดเผยถึงแผนการที่จะเดินทางเยือนต่างประเทศของเขาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาหรับที่มีฐานะทางการเงินร่ำรวยนั้น เป็นงานและเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับซาอุดีอาระเบีย ก็เคยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ หวังที่จะทำความตกลงด้านการลงทุนซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ หมายมั่นปั้นมือที่จะให้มาลงทุนในสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน ในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากเม็ดเงินด้านการลงทุนแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยังเม็ดเงินการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากสหรัฐฯ โดยกลุ่มประเทศอาหรับร่ำรวยเหล่านี้ด้วย ซึ่งคาดการณ์กันว่า เม็ดเงินด้านการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์มุ่งหวังก็ว่ากันที่หลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อครั้งพบปะกับชีค โมฮาเหม็ด บิน ไซอิด อัล นาห์ยาน ประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี (Photo : AFP)

ใช่แต่เท่านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังหวังที่จะให้กลุ่มประเทศอาหรับที่ร่ำรวยเหล่านี้ สนับสนุนด้านเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ภินท์พังเสียหายอย่างยับเยินไปเพราะสงครามการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

ปิดท้ายด้วยภารกิจรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งสองประเทศเคยที่จะบรรลุข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ต้องมาล้มเหลว เพราะเกิดสงครามกาซาครั้งล่าสุด ที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้กันเสียก่อน

ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งปวง หากประธานาธิบดีทรัมป์ สามารถทำให้ดีลต่างๆ ข้างต้นบรรลุผล ก็จะถือเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของเขาเลยก็ว่าได้ สำหรับ ทริปแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยสองหนนี้